คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟมีข้อความว่าถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะเลิกสัญญาเสียได้ทันที ส่วนเงินประกันและเงินค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าไว้ ผู้ให้เช่าก็อาจริบเสียได้ เมื่อจำเลยผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาเช่า โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้และไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันแก่จำเลย กรณีไม่อาจนำเงินประกันดังกล่าวมาหักชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ในร้านแบบเลขที่ 1472-5 ประจำสถานีรถไฟขอนแก่นจากโจทก์มีกำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายน 2540 โจทก์แจ้งให้จำเลยนำค่าเช่าค่าภาษีโรงเรือน และค่าปรับประจำเดือนดังกล่าวเป็นเงิน 13,475 บาท มาชำระแก่โจทก์พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่าแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยและเมื่อครบอายุสัญญาเช่าจำเลยยังคงครอบครองสถานที่เช่าตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 27กรกฎาคม 2540 จึงขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป โดยมิได้ซ่อมแซมสถานที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเดิมตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสถานที่เช่าเป็นเงิน 34,900 บาท และทำให้ขาดประโยชน์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 81,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายน2540 แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์สามารถหักเอาจากเงินมัดจำ 37,125 บาท ของจำเลยที่วางไว้ต่อโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์คืนเงินมัดจำ 23,650 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เหลือจากการหักชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เงิน 37,125 บาท ที่จำเลยมอบให้โจทก์ไว้ไม่ใช่เงินมัดจำแต่เป็นเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าซึ่งจะคืนให้จำเลยได้เท่าที่เหลืออยู่เมื่อครบอายุสัญญาเช่าและจำเลยไม่มีความผิด เมื่อจำเลยผิดสัญญาเช่าหลายประการจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืน ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 13,814.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 กันยายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 50,939.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 กันยายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้อุทธรณ์และฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 จำเลยทำสัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟขอนแก่นจากโจทก์และวางเงิน 37,125 บาท ให้ไว้แก่โจทก์เป็นประกันในวันทำสัญญา แล้วต่อมาจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายน 2540 แก่โจทก์ และไม่ทำการซ่อมแซมสถานที่เช่าให้อยู่ในสภาพดี รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 50,939.90 บาท ประเด็นพิพาทที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันดังกล่าวแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อ 13 วรรคแรกของสัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟขอนแก่น มีข้อความระบุชัดว่า ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะเลิกสัญญาเสียได้ทันที ส่วนเงินประกันและเงินค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าไว้ ผู้ให้เช่าก็อาจริบเสียได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิริบเงินประกันจำนวน 37,125 บาท ตามสัญญาข้อนี้ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าหากโจทก์ไม่ใช้สิทธิริบเงินดังกล่าวก็ต้องคืนให้แก่จำเลยหรือหักกับค่าเสียหายหรือค่าเช่าที่ค้างชำระนั้น ไม่ปรากฏว่ามีระบุไว้ในสัญญาเช่าดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะในสัญญาข้อนี้มีข้อความต่อไปว่า “นอกจากนี้หากว่าการที่ผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าได้รับความเสียหาย ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อไปอีกตามกระบิลเมือง” ส่วนที่จำเลยอ้างข้อความในข้อ 13 วรรคสอง ของสัญญาเช่าดังกล่าวที่ว่า เงินประกันนี้ถ้าเลิกสัญญากันโดยหมดอายุการเช่าและผู้เช่าไม่มีความผิดผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้ตามจำนวนที่ยังเหลืออยู่นั้น ก็เห็นว่าเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จำเลยจึงมิใช่ผู้เช่าที่ไม่มีความผิดไม่เข้ากรณีที่ผู้ให้เช่าจะต้องคืนเงินประกันให้ตามข้อสัญญาดังกล่าวอีกเช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันแก่จำเลยแล้ว จึงไม่อาจนำเงินประกันดังกล่าวมาหักชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share