คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานตำรวจมีหนังสือแจ้งอายัดการดำเนินการทางทะเบียนต่อผู้อำนวยการสำนักงานทะเบียนรถยนต์ เพราะการนำรถยนต์เข้าประเทศผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะรับโอนรถยนต์มาและไม่อาจทราบได้ การที่ไม่อาจต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี จึงมิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเพราะไม่อาจใช้รถยนต์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 โดยส่งมอบรถยนต์คืน แต่จำเลยที่ 1 กลับชำระค่าเช่าซื้อต่อมาจนถึงงวดที่ 17 จากนั้นไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อและไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนโดยปราศจากเหตุผล โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมร่วมกันส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาคืนและเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 700,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญา 80,362 บาท และค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 94,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 13,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงินค่าขาดประโยชน์ 168,300 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นประกันเป็นเงิน 5,626 บาท ค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน 250,000 บาท เงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ในอัตรางวดละ 40,181 บาท พร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มงวดละ 2,813 บาท รวม 17 งวดเป็นเงิน 730,898 บาท ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายในการต่อทะเบียนอายุรถยนต์เป็นเงิน 7,060 บาท ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 201 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินตามงวดที่ชำระและค่าซ่อมรถยนต์จนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 132,543.41บาท รวมเป็นเงิน 1,294,628.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,162,085 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนให้แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคา 650,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 56,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 650,000 บาท นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 13,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน 15 เดือน เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนกรณีฟ้องแย้งนั้น ให้โจทก์ชำระเงิน 212,887 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้คืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคา650,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ 136,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ชำระเงิน 843,785 บาทแก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซิเดสเบนซ์ จากโจทก์ในราคา 1,446,516 บาท ตกลงผ่อนชำระ 36 งวด เดือนละงวดละ 40,181 บาทชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2535 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 18 เป็นต้นมา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.7 ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คืนให้โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อดังโจทก์ฎีกาหรือไม่ หรือมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์เป็นรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ได้ไปติดต่อขอซื้อจากนายเฉลิมชัย ลีชัยวัฒน์ ตามเอกสารหมาย ล.8 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีเงินไม่พอ จึงให้โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวแทนแล้วจำเลยที่ 1 จึงขอเช่าซื้อจากโจทก์อีกต่อหนึ่ง การจดทะเบียนโอนรถยนต์มายังโจทก์ขณะนั้นยังไม่มีปัญหา แสดงว่าหลักฐานทะเบียนตามที่ปรากฏถูกต้อง ตามทางนำสืบโจทก์ จำเลยก็ไม่ปรากฏว่าในปีก่อน ๆ นั้นต่อทะเบียนการใช้รถยนต์ประจำปีไม่ได้ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจมีหนังสือแจ้งอายัดการดำเนินการทางทะเบียนเพราะการนำรถยนต์เข้าประเทศผิดกฎหมายต่อผู้อำนวยการสำนักงานนายทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะรับโอนรถยนต์มาและไม่อาจทราบได้ แม้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ติดต่อซื้อรถยนต์ด้วยตนเองก็ยังไม่ทราบ การที่ไม่อาจต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปีในปี 2536 จึงมิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเพราะไม่อาจใช้รถยนต์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 โดยส่งมอบรถยนต์คืน แต่จำเลยที่ 1 กลับชำระค่าเช่าซื้อต่อมาจนถึงงวดที่ 17 จากนั้นไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อและไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนโดยปราศจากเหตุผล โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อการที่จำเลยที่ 1 มาบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ในภายหลังทั้งไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนโดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองย่อมไม่อาจกระทำได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกสัญญากันโดยปริยายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาคืนและเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสองได้ สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับราคารถยนต์หากจำเลยทั้งสองจะต้องใช้คืนและค่าขาดประโยชน์ แม้โจทก์จะมีสิทธิได้ค่าใช้รถยนต์ในระหว่างผิดนัด 2 เดือนก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจกำหนดให้ได้

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าโจทก์จะต้องใช้ค่าซ่อมแซมรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 546 กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วแก่ผู้เช่าซื้อ และหน้าที่ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อในกรณีที่เกิดความชำรุดบกพร่องขึ้นในระหว่างเวลาเช่าซื้อนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 550 ค่าซ่อมแซมรถยนต์ของจำเลยที่ 1มิใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อย แต่เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและสมควรเพื่อรักษารถยนต์คันพิพาทให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ โจทก์จึงต้องรับผิดค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547(ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 635/2536) ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์เมื่อเดือนมีนาคม 2535 จากนั้นประมาณ 1 เดือน จำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ทำเกียร์ใหม่เป็นเกียร์ออโตเมติก เปลี่ยนคลัตช์ ทำเบาะใหม่ ทำช่วงล่วงหน้าหลังรวมทั้งทำสีใหม่ จำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบปฏิเสธความจริงข้อนี้ ยังเบิกความว่าได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปปรับปรุงใหม่ นายไพบูลย์ ตั้งสิทธิเกษม สามีจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ได้ไปดูรถยนต์ของนายเฉลิมพงษ์จนพอใจ จึงได้ขอทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ตามคำเสนอขอเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 รถยนต์ยังใช้การได้อยู่ในสภาพที่พอใจ นายสงบ จิตวัตร ช่างซ่อมรถยนต์พยานจำเลยเบิกความว่า รับซ่อมรถยนต์เมื่อเดือนเมษายน 2535 ส่วนการทำสี สามีของจำเลยที่ 1 ให้ช่างอื่นเป็นคนทำ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเห็นได้ชัดแจ้งมิใช่เป็นการซ่อมแซมปรับปรุงให้รถยนต์อยู่ในสภาพที่ใช้ได้เท่านั้น แต่เป็นการดัดแปลงเปลี่ยนสภาพรถยนต์ให้เป็นรถใหม่ การที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์รับผิดค่าใช้จ่ายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ทั้งยังก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อจะเช่าซื้อรถยนต์เก่า ๆ มาในราคาถูก ๆ แล้วนำไปซ่อมซึ่งอาจแพงกว่าราคาเช่าซื้อหรือเกือบเท่าราคาเช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา ผู้เช่าซื้อนอกจากจะได้รถยนต์ในสภาพที่ดีไปกว่าเดิม ยังเรียกเงินที่ใช้จ่ายไปทั้งหมดได้อีกด้วย เมื่อนำเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากราคาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้ออาจต้องเป็นฝ่ายขาดทุน ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ยอมคืนรถยนต์ให้โจทก์เช่นคดีนี้

ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องคืนเงินค่าต่อทะเบียนรถยนต์จำนวน 7,261 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการต่อทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ได้โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิที่จะริบเงินจำนวนดังกล่าวได้ เพราะมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องคืนให้จำเลยที่ 1

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่าโจทก์จะต้องคืนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 5,626 บาท ที่โจทก์เรียกไว้เป็นประกันให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวนนี้โจทก์จะหักเก็บไว้ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับชำระค่าเช่าซื้อจำนวน 2 งวด จากจำเลยที่ 1แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบได้ความว่า โจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 แล้ว17 งวด ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 2 งวด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวนนี้แก่จำเลยที่ 1”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์ 56,000 บาทและชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 13,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน 15 เดือนแก่โจทก์ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้โจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 แต่เฉพาะค่าต่อทะเบียนรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,887 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป (วันที่ 10สิงหาคม 2537) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share