คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2477/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหัวหน้าฝ่ายบัญชีและการเงินด้านวิทยุกระจายเสียงของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้รับเงินชำระหนี้ค่าเช่าโฆษณาแต่นำส่งเข้าบัญชีไม่ครบและไม่นำเข้าบัญชีเลยเป็นการเบียดบังเอาตัวทรัพย์ที่อยู่ในหน้าที่คือเอาเงินนั้นเองเป็นประโยชน์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 4 จำเลยมิได้ใช้อำนาจในหน้าที่แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากเงินนั้นโดยมิได้เอาเงินนั้นไป จึงลงโทษจำเลยตาม มาตรา 8 ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ทั้งหมด 21 กระทง ลงโทษกระทงละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ 7 กระทง ลดโทษให้กระทงละกึ่ง รวมจำคุก 87 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 101,164 บาทแก่บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหากระทงที่ 20 และ 21 จำเลยมีความผิดตามมาตรา 4 ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 33,984 บาทแก่ผู้เสียหายยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหากระทงที่ 1 ถึง 19 ข้อหาอื่นในกระทงที่ 20 และ 21 และคำขอที่ให้คืนหรือใช้เงินเกินจากจำนวน 33,984 บาทนั้นเสีย โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในขณะเกิดเหตุเรื่องนี้ จำเลยเป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบัญชีและการเงินด้านวิทยุกระจายเสียงในระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2513 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2516 จำเลยได้รับเงินชำระหนี้ค่าเช่าโฆษณาจากบริษัทเกรทอิสเทอร์น แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด รวม 21 งวด งวดละ 18,742 บาท 50 สตางค์ 14 งวด และงวดละ 18,742 บาท 7 งวด ตามใบเสร็จรับเงินของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.22 (นางสาวสุขุมาลย์ พรสุรไกร ผู้จัดการบริษัทเกรทอิสเทอร์น แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด เบิกความว่าหายไป 1 ฉบับ) และปรากฏว่าวันที่รับชำระตามใบเสร็จรับเงินกับวันที่รับชำระตามบัญชีไม่ตรงกันรวม 19 งวด โดยนำส่งเข้าบัญชีล่าช้าน้อยบ้างมากบ้างตั้งแต่3 วันถึง 554 วัน ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 16 ส่วนงวดที่ 20 จำเลยรับเงินเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2515 แล้ว แต่ไม่ได้นำส่งเข้าบัญชี จำเลยผ่อนชำระเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2517 เป็นเงิน 3,500 บาท คงเป็นเงินที่ไม่ได้นำเข้าบัญชีในงวดนี้ 15,242 บาท และงวดที่ 21 จำเลยรับเงินเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2516 แล้วก็ไม่ได้นำเข้าบัญชีเช่นเดียวกัน รวมเงินที่ยังไม่ได้นำเข้าบัญชี 33,984 บาท ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 17” ฯลฯ

“โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อหาความผิดกระทงที่ 20 และ 21 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ปรากฏว่าจำเลยเพียงเบียดบังเอาตัวทรัพย์ที่อยู่ในหน้าที่คือเอาเงินนั้นเองเป็นประโยชน์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 จำเลยมิได้ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากเงินนั้นโดยมิได้เอาเงินนั้นไป จึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ไม่ได้”

พิพากษายืน

Share