คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46กรณีไม่มีทางที่จะขยายไปถึงความเห็นของพนักงานสอบสวนให้เป็นการผูกมัดศาลที่พิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลัง ความเห็นของพนักงานสอบสวนไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฉะนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงไม่จำต้องถือตาม
ห้างฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสะพาน มีหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนตลอดเวลา แต่กลับละเลยไม่ติดตั้งเครื่องหมายดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แม้ผู้ตายจะขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง แต่หากมีเครื่องหมายเตือนเชื่อว่าผู้ตายสามารถเห็นและชะลอความเร็วของรถได้ทันและจะไม่ชนท่อระบายน้ำคอนกรีต เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 มากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทของผู้ตาย ซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้มากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งกรณีดังกล่าวเป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 265,000 บาท แต่เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วย และจำเลยทั้งสองประมาทมากกว่าการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 68,333.33 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุนทรเกตุวัตร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานคอนกรีตถนนสายบ้านฟ้าห่วน – บ้านหนามแท่ง และได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อนำท่อระบายน้ำคอนกรีตมาวางขวางบนถนนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างสะพานโดยไม่จัดให้มีสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายเตือนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2540 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา นายสุนทรขับรถจักรยานยนต์ชนท่อระบายน้ำคอนกรีตดังกล่าว เป็นเหตุให้นายสุนทรถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพนายสุนทร 25,000 บาท และขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเป็นเงิน 240,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุนทรเกตุวัตร จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานตามฟ้อง ผู้ก่อสร้างได้วางท่อระบายน้ำคอนกรีตและติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณในบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อให้ผู้สัญจรไปมาเห็นได้ชัดเจนแล้ว เหตุละเมิดมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสุนทรที่ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วมากจนไม่อาจหยุดหรือชะลอรถได้ทัน คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ค่าปลงศพนายสุนทรไม่ควรเกิน10,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะไม่ควรเกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์68,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์เป็นบิดาของนายสุนทร เกตุวัตร ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อสร้างสะพานคอนกรีตถนนสายบ้านฟ้าห่วน- บ้านหนามแท่ง และนำท่อระบายน้ำมาวางไว้บนถนนบริเวณที่ก่อสร้างตามภาพถ่ายหมาย ล.1 ซึ่งรถไม่สามารถผ่านบริเวณก่อสร้างได้ต้องใช้ทางเบี่ยง โดยไม่มีสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายเตือนอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่21 มกราคม 2540 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท่อระบายน้ำคอนกรีตซึ่งวางอยู่บนถนนบริเวณก่อสร้างดังกล่าวตามภาพถ่ายหมาย จ.1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตาย

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวนหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการพิพากษาคดีแพ่งที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญานั้น หาใช่เฉพาะผลคดีที่มีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น เพราะคดีอาญาสามารถยุติได้หลายวิธี เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติชัดแจ้งว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่มีทางจะขยายไปถึงความเห็นของพนักงานสอบสวนเป็นการผูกมัดศาลที่พิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลัง ความเห็นของพนักงานสอบสวนไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญาในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงไม่จำต้องถือตาม

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดเห็นว่า ขณะเกิดเหตุถนนที่เกิดเหตุมีการสร้างสะพานรถแล่นผ่านบริเวณก่อสร้างไม่ได้ต้องใช้ทางเบี่ยงซึ่งอยู่ทางขวาของถนนแทน จำเลยที่ 1 นำท่อระบายน้ำคอนกรีตมาวางอยู่ด้านขวาของถนนเลยจุดแยกทางเบี่ยงไปประมาณ 20 เมตร ตามภาพถ่ายหมาย ล.1ภาพที่ 2 และแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ล.2 นายประดิษฐ์ป้องญาติ ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ตายพยานโจทก์เบิกความว่า ทางเบี่ยงเปิดใช้มาก่อนเกิดเหตุ3 เดือนแล้ว และเบิกความใหม่ว่า เปิดใช้มาไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายหมาย ล.1 ภาพที่ 1 แล้วเห็นว่า งานก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จจนถึงพื้นสะพานแล้วคำเบิกความของนายประดิษฐ์ในครั้งแรกว่าทางเบี่ยงเปิดใช้มาก่อนเกิดเหตุ 3 เดือนแล้วน่าจะเป็นความจริง นายประดิษฐ์ขับรถจักรยานยนต์มาพร้อมกับผู้ตาย แต่ผู้ตายจอดรถซื้อหมากฝรั่ง นายประดิษฐ์ขับรถล่วงหน้าไปพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าผู้ตายต้องเร่งความเร็วของรถเพื่อให้ทันนายประดิษฐ์รถจักรยานยนต์ของผู้ตายจึงแล่นมาถึงบริเวณทางเบี่ยงด้วยความเร็วสูงและในระยะกระชั้นชิด ผู้ตายไม่อาจบังคับรถให้แล่นไปตามทางเบี่ยงได้ รถจักรยานยนต์ของผู้ตายจึงชนท่อระบายน้ำคอนกรีต นายประดิษฐ์เบิกความว่า เมื่อได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ของผู้ตายชนท่อคอนกรีต ได้หันไปดู เห็นแสงไฟรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย แสดงว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายเปิดไฟหน้ารถด้วย ผู้ตายย่อมเห็นเส้นทางได้ในระยะห่างพอสมควรนายประดิษฐ์อยู่หมู่บ้านเดียวกับผู้ตายซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 3 ถึง 4 กิโลเมตรจากหมู่บ้านจะไปสู่ถนนใหญ่ต้องใช้ถนนที่เกิดเหตุจึงเชื่อว่าผู้ตายก็ทราบดีแล้วว่าถนนกำลังก่อสร้างต้องใช้ทางเบี่ยงแทน ผู้ตายต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง แต่ผู้ตายกลับไม่ใช้ความระมัดระวัง คงขับรถด้วยความเร็วสูง เพื่อให้ทันนายประดิษฐ์ จนกระทั่งชนท่อระบายน้ำคอนกรีตเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วย ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสะพาน มีหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องหมายแสดงให้เห็นโดยชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนตลอดเวลาแต่จำเลยที่ 1 กลับละเลยไม่ติดตั้งเครื่องหมายดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แม้ผู้ตายจะขับรถด้วยความเร็วสูง แต่หากมีเครื่องหมายเตือนเชื่อว่าผู้ตายสามารถเห็นและชะลอความเร็วของรถได้ทันและจะไม่ชนท่อระบายน้ำคอนกรีตดังกล่าว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1มากกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้มากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งกรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วย แต่จำเลยทั้งสองประมาทมากกว่า และเห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดมานั้นเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share