คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4844/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยจัดการหาสถานที่รับฝากสินค้าให้โจทก์ในประเทศสหราชอาณาจักรและเรียกเก็บเงินค่าเก็บรักษาสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ในนามของจำเลยนั้น มิใช่เป็นการงานที่จำเลยทำให้เปล่าในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์และตัวแทนของบริษัท อ. แต่จำเลยและบริษัท อ. มีผลประโยชน์ร่วมกันในการรับฝากสินค้าของโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นตัวการร่วมกันในการรับฝากสินค้าที่สูญหายจากโจทก์ โดยมีบำเหน็จค่าฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657และมาตรา 659วรรคสอง เมื่อจำเลยกับพวกมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบหาได้ไม่
โจทก์ประกอบธุรกิจขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่และโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้ามาเพื่อขายหากำไรในประเทศไทย ซึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยเองก็ทราบดีอยู่แล้วถึงความในข้อนี้เพราะสินค้าดังกล่าวมีจำนวนมาก และจำเลยได้ติดต่อทำธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว การที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปจำเลยควรจะคาดเห็นได้ว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง
หนี้ค่าระวางการขนสินค้าตามฟ้องแย้งเป็นหนี้เงิน เมื่อโจทก์มิได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยนับแต่วันครบกำหนด 45 วัน ที่โจทก์ได้รับใบเรียกเก็บเงินจากจำเลย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์จะนำหนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยมาขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าเสียหายนับแต่วันที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปหาได้ไม่ เพราะหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยเกินคำขอของจำเลยในส่วนที่เป็นระยะเวลาคิดดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้องแย้งนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 602,862.35 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 581,360 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดกำไรอีกจำนวน 17,713,089.64 บาท แก่โจทก์ด้วย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้อยู่ในฐานะของผู้รับฝากสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามคำฟ้อง จำเลยเป็นแต่เพียงผู้รับจัดการขนส่งสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือเฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เท่านั้น โดยหลังจากจำเลยรับมอบสินค้าจากผู้ขายแล้ว จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ให้ช่วยจัดหาโกดังเก็บสินค้าเพื่อเก็บรักษาสินค้านั้นไว้ก่อน จำเลยจึงติดต่อบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด ในประเทศสหราชอาณาจักรให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีเพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้กำหนดหรือยอมรับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ และจำเลยมิได้มีผลประโยชน์หรือนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์สอินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด ทั้งบริษัทดังกล่าวก็มิได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้มีอำนาจใด ๆ ในบริษัทจำเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เป็นผลมาจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรืออยู่ในความรู้เห็นของจำเลย เพราะสินค้าดังกล่าวถูกลักไปขณะเก็บรักษาไว้ที่โกดังเก็บสินค้าของบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด อันถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้รับฝากทรัพย์ไม่อาจจะป้องกันได้ ดังนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย การที่โจทก์นำเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าตามใบเรียกเก็บเงินของจำเลยรวมจำนวน 588,150.20 บาท มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าเสียหายจากการขาดกำไรของโจทก์นั้น ถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังคงมีหน้าที่ชำระเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าจำนวน 216,689.56 บาทและจำนวน 371,460.64 บาท ตามลำดับ ให้แก่จำเลย พร้อมด้วยดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นับแต่วันครบกำหนดชำระเงิน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน34,670.33 บาท และจำนวน 52,004.49 บาท ตามลำดับ รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนทั้งสิ้น 674,825.02 บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน674,825.02 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยรับสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูญหายมาแล้วแต่ไม่สามารถส่งมอบให้แก่โจทก์ได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเอาหนี้ค่าขาดกำไรที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 18,301,239.84 บาท มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าจำนวน 588,150.20 บาท ที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยได้ จำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เพราะดอกเบี้ยดังกล่าวจำเลยกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่เคยตกลงหรือยินยอมด้วยและมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยมีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ในการติดต่อหาสถานที่รับฝากสินค้าของโจทก์และจำเลยได้ดำเนินการดังกล่าวภายในขอบอำนาจของตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่สินค้าของโจทก์สูญหาย รวมทั้งไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดกำไรตามคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ในการที่จะต้องชำระค่าเสียหายตามคำฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยมาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายตามคำฟ้องได้ โจทก์ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าตามฟ้องแย้งแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 45 วัน ตามวันที่ปรากฏในใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.96 และ จ.97 คือวันที่ 15 มีนาคม 2541 และวันที่ 18 เมษายน 2541 ตามลำดับ พิพากษายกฟ้อง และให้บังคับตามฟ้องแย้งจำเลยโดยให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 588,150.20 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 216,689.56 บาท นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2541 และในต้นเงินจำนวน 371,460.64 บาท นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องแย้ง (วันที่ 4 ธันวาคม 2541) ต้องไม่เกินจำนวน34,670.33 บาท และ 52,004.49 บาท ตามลำดับ (ตามที่จำเลยขอ) กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้โจทก์ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่จำเลยชนะคดี

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยเป็นตัวการผู้รับฝากสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ซึ่งสูญหายไปโดยมีค่าบำเหน็จตามที่โจทก์ฟ้องหรือเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์เท่านั้น เห็นว่า ในการประกอบธุรกิจของจำเลย นอกจากจำเลยจะมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการรับขนส่งสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทยและจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศแล้ว จำเลยยังมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการเก็บรักษาสินค้าดังกล่าวด้วย โดยจำเลยได้จดทะเบียนวัตถุประสงค์ดังกล่าวของจำเลยไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แต่ในการประกอบธุรกิจกับโจทก์ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพนักงานบริษัทจำเลยไปปฏิบัติงานประจำอยู่ที่ประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีโดยตรง คงได้ความว่าจำเลยได้มอบหมายให้พนักงานบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด ในประเทศสหราชอาณาจักรและบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งสิ้น แต่ในใบเรียกเก็บเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากโจทก์นั้น กลับระบุว่าจำเลยเป็นผู้เรียกเก็บเงินในนามของจำเลยเองทั้งสิ้น และในการฟ้องแย้งเรียกเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลย จำเลยก็ฟ้องในนามของจำเลยเอง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับจำเลยและบริษัทผู้ให้บริการสำหรับกิจการดังกล่าวต่างก็เป็นบริษัทอยู่ในเครือข่ายเดียวกันด้วยแล้วตามพฤติการณ์จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยและบริษัทในเครือข่ายดังกล่าวได้ประกอบธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าของโจทก์โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันมาแต่ต้น และตามเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยมีถึงโจทก์ แม้ก่อนเปลี่ยนชื่อ จำเลยจะใช้ชื่อว่าบริษัทอีไอ เฟรท ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด แต่จำเลยก็จะระบุชื่อ “เอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล” ไว้คู่กับชื่อของจำเลยที่หัวกระดาษเสมอ เช่น ในโทรสารเอกสารหมาย จ.83 ถึง จ.85 เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือข่าย “เอ็กซ์ปิไดเตอร์สอินเตอร์เนชั่นแนล” ตามโทรสารเอกสารหมาย จ.83 และ จ.84 ดังกล่าว ไม่มีข้อความใดที่สื่อความหมายให้เข้าใจได้ว่าจำเลยได้ติดต่อกับโจทก์เรื่องการเก็บรักษาสินค้าดังกล่าวในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์หรือเป็นตัวแทนของบริษัทเจ้าของโกดังเก็บสินค้าแต่อย่างใด หากจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องใช้ข้อความในโทรสารเช่นนั้น และการที่จำเลยไม่มีโกดังเก็บสินค้าในต่างประเทศเป็นของตนเองก็หาได้หมายความว่าจำเลยจะประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่ได้ เพราะจำเลยอาจร่วมประกอบธุรกิจดังกล่าวกับบริษัทเครือข่ายในต่างประเทศที่มีโกดังเก็บสินค้าหรือจำเลยเช่าโกดังเก็บสินค้าจากผู้อื่นเพื่อดำเนินธุรกิจของจำเลยได้ นอกจากนี้ในการเรียกเก็บเงินค่าเก็บรักษาสินค้าของโจทก์ดังกล่าว จำเลยได้ส่งใบเรียกเก็บเงินให้โจทก์ในนามของจำเลยโดยเรียกเก็บเป็นสกุลเงินบาท กับออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ในนามของจำเลยเองทั้งสิ้น ทั้ง ๆ ที่บริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด ส่งใบเรียกเก็บเงินถึงจำเลยโดยเรียกเก็บเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ หากจำเลยไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในฐานะผู้ร่วมประกอบการในกิจการนี้ ก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะยอมออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของจำเลยเองเช่นนั้น เพราะจะเป็นรายได้ของจำเลยซึ่งจำเลยจะต้องรับภาระในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลและต้องเสี่ยงต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหากต้องส่งเงินนั้นต่อให้บริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด ด้วย และตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าในการรับฝากสินค้าดังกล่าวจำเลยได้เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการติดต่อหาสถานที่เก็บสินค้าให้โจทก์และจำเลยเรียกเก็บเงินจากโจทก์ในฐานะตัวแทนของบริษัทผู้รับฝากสินค้าแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบมานี้ มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า การที่จำเลยจัดการหาสถานที่รับฝากสินค้าให้โจทก์ในประเทศสหราชอาณาจักรและเรียกเก็บเงินค่าเก็บรักษาสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ในนามของจำเลยนั้น มิใช่เป็นการงานที่จำเลยทำให้เปล่าในฐานะที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์และตัวแทนของบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด แต่จำเลยและบริษัทเอ็กซ์ปิไดเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด มีผลประโยชน์ร่วมกันในการรับฝากสินค้าของโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นตัวการร่วมกันในการรับฝากสินค้าที่สูญหายจากโจทก์โดยมีบำเหน็จค่าฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 และมาตรา 659 วรรคสอง และเนื่องจากสินค้าได้สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักเอาไป ทำให้การขนส่งสินค้าแก่โจทก์กลายเป็นพ้นวิสัย จึงเป็นข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยจำเลยไม่จำต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 ตามที่จำเลยต่อสู้หรือไม่ เห็นว่า สินค้าที่สูญหายมีมูลค่ามากกว่า 20,000,000 บาท และมีน้ำหนักมากถึง 4,065 กิโลกรัม ถ้าจะขนย้ายสินค้าดังกล่าวออกจากโกดังเก็บสินค้าต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่และต้องใช้เวลาขนย้ายนานพอสมควรหากจำเลยกับพวกจัดเวรยามเฝ้าดูแลโกดังเก็บสินค้าที่เกิดเหตุไว้ ก็ยากที่คนร้ายจะลักทรัพย์ดังกล่าวไปได้ ซึ่งความในข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็หาได้นำสืบปฏิเสธให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ จึงถือได้ว่าจำเลยกับพวกมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดในการสูญหายของสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะอ้างว่าการที่คนร้ายลักสินค้าของโจทก์ไปจากโกดังเก็บสินค้าที่เกิดเหตุเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวได้สูญหายไปอันเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบให้โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามราคาของสินค้าที่โจทก์ซื้อมารวมเป็นเงินจำนวน 581,360 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่สินค้านั้นสูญหายไป โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับค่าเสียหายส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าที่สูญหายหรือไม่ เพียงใดในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยที่ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ประกอบธุรกิจขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่และโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าที่สูญหายมาเพื่อขายหากำไรในประเทศไทย ซึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยเองก็ทราบดีอยู่แล้วถึงความในข้อนี้เพราะสินค้าดังกล่าวมีจำนวนมาก และจำเลยได้ติดต่อทำธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว การที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปจำเลยควรจะคาดเห็นได้ว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสองเมื่อโจทก์ได้คิดเอากำไรโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาขายกับต้นทุนของสินค้าที่โจทก์ซื้อมาเท่านั้น แต่โจทก์มิได้นำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการตลาด เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ กับค่าภาษีต่าง ๆ มาคิดคำนวณเป็นต้นทุนด้วย จึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้สาเหตุที่โจทก์ต้องให้จำเลยเก็บรักษาสินค้าที่สูญหายไว้ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักร โดยโจทก์ยังไม่ต้องการให้จำเลยขนส่งสินค้าดังกล่าวมายังประเทศไทย เนื่องจากสินค้าในส่วนที่ผลิตในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำนวนมากได้ถูกจัดส่งมายังประเทศไทยแล้วและก่อนเกิดเหตุลักทรัพย์จำเลยก็ได้จัดการขนส่งสินค้าดังกล่าวอีกจำนวน 3,056 เครื่อง มาส่งมอบให้โจทก์แล้ว จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ยังคงมีสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าที่สูญหายค้างสต็อกอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังไม่สามารถขายได้ซึ่งสินค้าดังกล่าวอาจตกรุ่นในภายหลัง จึงยังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะสามารถขายสินค้าที่สูญหายได้หมดทุกเครื่องในราคาที่โจทก์ตั้งไว้ได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อปรากฏว่าสินค้านั้นสูญหายไป น่าเชื่อว่าโจทก์จะต้องรีบสั่งซื้อสินค้าตัวใหม่มาขายหากำไรเพื่อชดเชยค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าได้อีกส่วนหนึ่งจึงยังรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า โจทก์ได้รับความเสียหายตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องจริง เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยแต่โจทก์นำสืบพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความเสียหายอันแท้จริงไม่ได้เช่นนี้ จึงชอบที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี โดยเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 2,300,000 บาท

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากโจทก์สำหรับค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์ค้างชำระหรือไม่ เห็นว่า หนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าตามฟ้องแย้งเป็นหนี้เงิน เมื่อโจทก์มิได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยนับแต่วันครบกำหนด 45 วัน ที่โจทก์ได้รับใบเรียกเก็บเงินจากจำเลย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์จะนำหนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยมาขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ค่าเสียหายนับแต่วันที่สินค้าของโจทก์สูญหายไปหาได้ไม่ เพราะหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธินำหนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยมาหักกลบลบหนี้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าที่สูญหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนแน่นอนแล้ว และโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีจึงเห็นสมควรให้นำหนี้สองจำนวนนี้มาหักกลบลบกันได้ตามที่โจทก์ฟ้อง โดยให้มีผลในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หากฟังว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกเงินค่าระวางการขนส่งสินค้าจำนวน 216,689.56 บาท และจำนวน 371,460.64 บาท นั้น โจทก์มิได้ให้การต่อสู้มาในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้บังคับตามฟ้องแย้งจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง คดีนี้จำเลยได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าระวางการขนส่งสินค้าแก่จำเลย 2 จำนวน จำนวนแรกเป็นเงิน 216,689.56 บาท จำนวนที่ 2 เป็นเงิน 371,460.64 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2541 และวันที่ 18 เมษายน 2541 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวน ตามลำดับ เมื่อคิดระยะเวลานับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนจนถึงวันฟ้องแย้ง จะเป็นระยะเวลา 8 เดือน 19 วัน กับ 7 เดือน 16 วัน ตามลำดับ แต่จำเลยขอคิดระยะเวลาที่จะนำมาคำนวณดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้องเพียง 8 เดือน และ 7 เดือน ตามลำดับ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยโดยให้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวนแรกนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2541 และในต้นเงินจำนวนที่ 2 นับแต่วันที่ 18เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นการเกินคำขอในส่วนที่เป็นระยะเวลาคิดดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้องแย้ง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูญหายเป็นเงินจำนวน 581,360 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดกำไรจากการขายสินค้าดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 2,300,000 บาท แก่โจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าระวางการขนส่งสินค้าแก่จำเลยจำนวนแรกเป็นเงิน 216,689.56 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับช่วงเวลาก่อนฟ้องแย้งเป็นเวลา 8 เดือน และนับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 4 ธันวาคม 2541) จนถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ และจำนวนที่ 2 เป็นเงิน 371,460.64 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับช่วงเวลาก่อนฟ้องแย้งเป็นเวลา 7 เดือน และนับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 4 ธันวาคม 2541) จนถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้ค่าระวางการขนส่งสินค้าพร้อมดอกเบี้ยทั้งสองจำนวนดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดกำไรดังกล่าวข้างต้นได้ตามที่โจทก์ขอ แล้วจึงให้จำเลยชำระหนี้ค่าเสียหายที่คงเหลือในส่วนนี้แก่โจทก์ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลรวมเป็นเงิน 370,000 บาท กับค่าทนายความทั้งสองศาลรวมเป็นเงินอีก 150,000 บาท แทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share