คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่อาจเรียกร้องคืนหรือให้นำมาหักหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407
เมื่อจำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 6 จำนวน 250,000 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินที่ค้างชำระในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดให้นำเงินไปหักในวันดังกล่าว แต่กลับให้นำไปหักจากต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่คำนวณได้ในวันที่จำเลยชำระเสร็จ จึงขัดกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยมากกว่าที่ควรเพราะความรับผิดของดอกเบี้ยจะมากหรือน้อย ย่อมแปรผันไปตามจำนวนต้นเงิน กล่าวคือ ถ้าต้นเงินมากดอกเบี้ยที่จะต้องชำระก็มาก หากต้นเงินน้อย ดอกเบี้ยก็จะน้อย
แม้เช็คพิพาท มีหนี้ในส่วนที่เป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานที่สมบูรณ์แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ มิใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมดโจทก์จึงมีสิทธินำเช็คดังกล่าวฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)สาขาปากช่อง เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 691,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 1,200,000 บาท คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี และจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยได้รับเงินกู้ไปเพียง 854,516.35 บาทและได้ชำระหนี้ต้นเงิน แก่โจทก์เสร็จแล้ว ส่วนเช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายเป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดแบบทบต้นและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นหนี้อันเกิดจากโมฆะกรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายกรุงศรี จั่นบำรุง เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเคยเป็นหนี้เงินยืมโจทก์แต่ชำระเสร็จแล้ว เช็คพิพาทหากออกเพื่อชำระหนี้ก็เป็นการชำระหนี้ดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะจำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่ได้มอบให้จำเลยออกเช็คแทนจำเลยร่วมเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 844,049.65 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 810,534.35 บาท นับแต่วันที่ 14พฤศจิกายน 2539 และของต้นเงิน 16,652 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้นำเงิน 240,000 บาท ไปหักจากเงินจำนวนที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยร่วมโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะเบิกความยอมรับว่ามีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ16 ต่อปี จากจำเลย อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก่อนที่จำเลยจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท จำเลยเคยชำระหนี้ให้โจทก์มาแล้วรวม 6 ครั้ง เป็นการชำระเพื่อไถ่ถอนจำนอง 5 ครั้ง ซึ่งการชำระหนี้แต่ละครั้งไม่พอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดไปก่อนที่จะชำระต้นเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่อาจเรียกร้องคืนหรือให้นำมาหักหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 แต่อย่างไรก็ตาม แม้การชำระหนี้ครั้งที่ 6จะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 16 ต่อปีแต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้คิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน810,534.35 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 5โดยเห็นว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระโจทก์นำไปคิดทบต้นในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในส่วนดอกเบี้ยหลังจากวันดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมดนั้น โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คัดค้าน กรณีจึงต้องคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 810,534.35 บาท นับตั้งแต่วันที่ 14พฤศจิกายน 2539 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งคิดถึงวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 6คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 เป็นดอกเบี้ย 30,732.75 บาท เมื่อจำเลยชำระหนี้ครั้งที่ 6จำนวน 240,000 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินที่ค้างชำระในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ก่อนตามมาตรา 329 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดให้นำเงินจำนวน 240,000 บาท ไปหักในวันดังกล่าว แต่กลับให้นำไปหักจากต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่คำนวณได้ในวันที่จำเลยชำระเสร็จ จึงขัดกับมาตรา 329 วรรคหนึ่งทำให้จำเลยต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยมากกว่าที่ควรเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความรับผิดของดอกเบี้ยจะมากหรือน้อยย่อมแปรผันไปตามจำนวนต้นเงิน กล่าวคือ ถ้าต้นเงินมากดอกเบี้ยที่จะต้องรับผิดย่อมมากหากต้นเงินน้อยดอกเบี้ยก็จะน้อยถ้านำไปหักตั้งแต่วันที่16 พฤษภาคม 2540 ต้นเงินจากวันดังกล่าวก็ไม่ถึง 810,534.35 ดอกเบี้ยที่จะต้องชำระก็น้อยลงด้วย อนึ่งในส่วนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยของต้นเงิน 16,652 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 นั้น เป็นการพิพากษาไม่ตรงกับส่วนที่วินิจฉัยและไม่ตรงตามทางนำสืบของโจทก์ ในส่วนนี้เมื่อดูตามเอกสารหมายจ.12 และคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว ต้นเงินดังกล่าวต้องคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 17พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป เมื่อคำนวณยอดหนี้ทั้งหมดดังที่วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ณวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์เพียง 634,782.40 บาท เมื่อคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทคิดเป็นดอกเบี้ย 2,608.69 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 637,391.09 บาท จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวน 691,960 บาท จึงมีจำนวนที่จำเลยไม่ต้องรับผิดรวมอยู่ด้วยแต่แม้เช็คพิพาทมีหนี้ในส่วนที่เป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานที่สมบูรณ์แยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ มิใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์จึงมีสิทธินำเช็คดังกล่าวฟ้องจำเลยได้โดยจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพียงจำนวน 637,391.09 บาท เท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 637,391.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share