แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นทายาทของผู้ตายเพราะผู้ตายสมรสกับ บ. หลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันแสดงว่า จำเลยยอมรับว่า บ. เป็นภริยาของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และ ป. เป็นบุตรซึ่งเกิดจากผู้ตายและ บ. โจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของ ป. ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และ ป. ไม่ใช่บุตรที่เกิดจากผู้ตายและ บ. ทั้งมิได้นำสืบหักล้างว่า โจทก์ที่ 4 มิใช่บุตรของ ป. จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และป. เป็นบุตรของผู้ตายที่เกิดจาก บ. เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของ ป. จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ป. ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ตายสมรสกับ บ. ก่อนปี2473 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับ ผู้ตายกับบ. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอาจตกลงตั้งจำเลยซึ่งไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกได้ โดยไม่จำต้องไปร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย แม้เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ก็ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินมรดกตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 2 ไร่2 งาน 77 ตารางวา หรือคิดเป็นเงินคนละ 2,592,500 บาท หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้เอาที่ดินมรดกดังกล่าวขายทอดตลาดแล้วเอาเงินแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นทายาทของผู้ตาย เพราะผู้ตายแต่งงานกับนางบุญมีหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาจึงมิใช่ทายาทของนายเชื่อม โจทก์ทั้งหมดจะเป็นบุตรของนายเชื่อมหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง ที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้องมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 239 และ 373 เป็นสินเดิมของจำเลย ส่วนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 371 เป็นที่ดินที่บิดามารดาของจำเลยยกให้แก่จำเลย ต่อมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยได้ออกน.ส.3 เป็นของตนเองแล้ว และได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเกินกว่า 1 ปี โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยเข้าครอบครอง หากที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว นอกจากนี้จำเลยเคยแบ่งที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 บางส่วนเพื่อมนุษยธรรมเพราะโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เคยมาอาศัยอยู่กับจำเลย อนึ่ง หากที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกจะต้องแบ่งให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งก่อนแล้วจึงแบ่งให้แก่ทายาทจำนวน 12 ส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายเชื่อม พึ่งสุข ผู้ตาย ให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ใน 12 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้เอาที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกขายแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ใน 12 ส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมนายเชื่อม พึ่งสุข กับนางบุญมี พึ่งสุข เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนางประเทือง พึ่งสุข นางประเทืองมีบุตร 1 คน คือโจทก์ที่ 4 นางประเทืองถึงแก่ความตายมาประมาณ30 ปีแล้ว ต่อมาในปี 2483 นายเชื่อมสมรสกับจำเลยตามใบสำคัญการสมรสและทะเบียนสมรสเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 นายเชื่อมกับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 7 คน ถึงแก่ความตายไปแล้ว 1 คน คงมีชีวิตอยู่ 6 คน นายเชื่อมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2523 หลังจากนั้นจำเลยได้แบ่งที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 งาน 50 ตารางวา คงเหลือที่ดินพิพาท 3 แปลง คือที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 239,371 และ 373 ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้มาระหว่างจำเลยสมรสกับนายเชื่อมผู้ตาย ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.11
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมของนายเชื่อมผู้ตายหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 มิใช่บุตรและทายาทของผู้ตาย โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นบุตรและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย และรับฟังไม่ได้ว่าผู้ตายกับนางบุญมีเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้เป็นทายาทของผู้ตายเพราะผู้ตายสมรสกับนางบุญมีหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แสดงว่าจำเลยยอมรับว่านางบุญมีเป็นภริยาของผู้ตายโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนางประเทืองเป็นบุตรซึ่งเกิดจากผู้ตายและนางบุญมี โจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของนางประเทือง ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนางประเทืองไม่ใช่เป็นบุตรที่เกิดจากผู้ตายและนางบุญมี ทั้งมิได้นำสืบหักล้างว่า โจทก์ที่ 4 มิใช่บุตรของนางประเทือง จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนางประเทืองเป็นบุตรของผู้ตายที่เกิดจากนางบุญมี เมื่อนางประเทืองถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของนางประเทืองจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางประเทืองได้ และเมื่อพิเคราะห์อายุของโจทก์ทั้งสามขณะเบิกความซึ่งมีอายุ 63, 60 และ 56 ปี ตามลำดับ ประกอบกับสำเนาทะเบียนบ้านที่โจทก์ทั้งสี่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2536 ที่ระบุว่าโจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2473 แล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เกิดในปี 2473 จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายสมรสกับนางบุญมีก่อนปี 2473 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับ ผู้ตายกับนางบุญมีจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกของผู้ตายภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เบิกความว่าเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งจำเลยและนางทองคำ ม่วงเมือง บุตรจำเลยได้เบิกความเป็นพยานตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งสี่รับว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อพิเคราะห์ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยดังกล่าวประกอบข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า นอกจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมแล้ว ยังมีโจทก์ที่ 4 กับบุตรและหลานของจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมอีก กับจำเลยได้ขายที่ดินมรดกไปแปลงหนึ่งนำเงินมาใช้จ่ายในการจัดงานศพผู้ตาย และนำที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ปลูกบ้านแบ่งให้แก่บุตรจำเลยและโจทก์ที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 งาน 50 ตารางวา แล้วโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 4 กับบุตรและหลานของจำเลยคัดค้านว่าจำเลยไม่มีอำนาจจัดการขายที่ดินและรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด คดีจึงฟังได้ว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้มีการตกลงให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยไม่ปรากฏว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายเช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการจัดการมรดกและแบ่งปันมรดกที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีเอกสารคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงนั้น เห็นว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอาจตกลงตั้งผู้จัดการมรดกได้ โดยไม่จำต้องไปร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ดังนั้น ที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ด้วย แม้เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสี่ก็ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน