แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เรื่อง วินัยและโทษทางวินัย ระบุว่าการทุจริต ฉ้อโกง ยักยอก ปลอมแปลงเอกสารหรือกระทำความผิดโดยเจตนาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่ที่บริษัทมอบหมาย ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น ปิดบัง อำพราง การกระทำผิดของตนเอง หรือเพื่อนร่วมงานอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ตาม ก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงทุกกรณีไปไม่ การกระทำใดจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่จักต้องพิจารณาพฤติการณ์ความเป็นจริงเป็นกรณีไป
โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานตรวจแมลง โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานตรวจแมลง โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ ซึ่งลูกจ้างจำเลยทำขึ้นดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะทราบว่าลูกจ้างจำเลยรับงานซึ่งมีลักษณะ ประเภท และชนิดเดียวกับงานที่จำเลยผลิตจากบุคคลภายนอกไปทำทั้งที่โรงงานและที่บ้าน แต่โจทก์ทั้งสองไม่แจ้งให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นการปิดบังอำพรางการกระทำผิดของเพื่อนร่วมงานอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับที่ไม่เป็นความผิดอย่างร้ายแรงทั้งไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2531 และ16 กรกฎาคม 2533จำเลยได้จ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ซึ่งลูกจ้างจำเลยทำขึ้น ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 25,200 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 29,700 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,100 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน2,475 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้นำงานเกี่ยวกับการผลิตเหยื่อปลาเทียม ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะ ประเภท และชนิดเดียวกับงานที่จำเลยผลิตจากบุคคลภายนอกไปทำเอง และนำไปให้ลูกจ้างจำเลยทำทั้งที่โรงงานและที่บ้าน นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่า ลูกจ้างจำเลยนำงานดังกล่าวไปทำในโรงงานและที่บ้านแต่ไม่แจ้งให้จำเลยทราบ การกระทำของโจทก์ทั้งสองทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 25,200 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 29,700 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) สั่งรับไว้เพียงว่า การที่โจทก์ทั้งสองทราบว่าลูกจ้างจำเลยรับงานที่มีลักษณะ ประเภทและชนิดเดียวกับงานซึ่งจำเลยผลิตจากบุคคลภายนอกไปทำทั้งที่โรงงานและที่บ้าน แต่โจทก์ทั้งสองไม่แจ้งให้จำเลยทราบนั้น เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีร้ายแรง ซึ่งจำเลยใช้อ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.1 เรื่องวินัยและโทษทางวินัย ระบุว่า การกระทำผิดดังต่อไปนี้ ฯลฯ ข้อ 12 ทุจริต ฉ้อโกง ยักยอก ปลอมแปลงเอกสารหรือกระทำความผิดโดยเจตนาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่ที่บริษัทมอบหมาย และข้อ 19 ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น ปิดบัง อำพราง การกระทำผิดของตนเองหรือเพื่อนร่วมงานอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นว่า แม้ข้อบังคับดังกล่าวระบุให้ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดวินัยร้ายแรงทุกกรณีไปไม่ การกระทำใดจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ จักต้องพิจารณาพฤติการณ์ความเป็นจริงเป็นกรณีไป
ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) ฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานตรวจแมลง โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานตรวจแมลง ส่วนหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยให้การรับว่ามีหน้าที่ตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ซึ่งลูกจ้างจำเลยทำขึ้น ดังนั้นข้อความที่นายอำนวย กาวีวงศ์ และนางกฤษณา มาณะวุฑฒ์ พยานจำเลยเบิกความว่าโจทก์ทั้งสองยังมีหน้าที่ควบคุมลูกจ้างจำเลยให้ปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบของจำเลย จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือจากคำให้การย่อมรับฟังไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่เพียงตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ที่ลูกจ้างจำเลยทำขึ้นแม้โจทก์ทั้งสองทราบว่าลูกจ้างจำเลยรับงานซึ่งมีลักษณะ ประเภทและชนิดเดียวกับงานที่จำเลยผลิตจากบุคคลภายนอกไปทำทั้งที่โรงงานและที่บ้าน แต่โจทก์ทั้งสองไม่แจ้งให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นการปิดบังอำพรางการกระทำผิดของเพื่อนร่วมงานอันอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 19 ก็เป็นเพียงการฝ่าฝืน ข้อบังคับที่ไม่เป็นความผิดอย่างร้ายแรง ทั้งไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน