แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หญิงเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าว ได้ทำการสมรสกับคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏว่า กฎหมาย ของประเทศสามียอมให้หญิงนั้นเข้าถือเอาสัญชาติของสามีได้ หญิงนั้นย่อมยังเป็นคนสัญชาติไทยอยู่ แม้ว่าจะได้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแล้วก็เป็นการได้ใบสำคัญมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ต้องไปต่ออายุใบสำคัญนั้นอีก และแม้ถ้าจะถือว่าหญิงนั้นได้ขาดสัญชาติไทยไปตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495 มาตรา 16ทวิ แล้วก็ตาม หากหญิงนั้นจะมีผิดก็ย่อมจะเป็นผิดฐานไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 8 ไม่มีผิดฐานไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนไทยเกิดในราชอาณาจักรแต่บิดาเป็นคนสัญชาติจีน จำเลยสมรสกับคนสัญชาติจีน แล้วขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยประสงค์จะสละสัญชาติไทย จำเลยจึงขาดจากสัญชาติไทยแล้ว ใบสำคัญของจำเลยหมดอายุตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2481 ตลอดมาขอให้ลงโทษฐานไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
จำเลยต่อสู้ว่าบิดาเป็นคนไทย จำเลยยังเป็นคนไทยอยู่
ศาลชั้นต้นฟังว่าบิดาจำเลยเป็นคนสัญชาติจีน จำเลยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วย่อมขาดจากสัญชาติไทย พิพากษาปรับเพราะไม่ขอต่ออายุใบสำคัญปีสุดท้าย 1 ปี 100 บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คงฟังว่าบิดาจำเลยเป็นคนสัญชาติจีนแต่เห็นว่าจำเลยยังไม่เสียสัญชาติไทย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่ากฎหมายของประเทศสามีจำเลยยอมให้จำเลยเข้าถือเอาสัญชาติสามีได้ โจทก์ไม่สืบจึงต้องฟังว่าจำเลยยังเป็นคนไทยอยู่ ไม่มีหน้าที่ต้องไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หากได้รับมาก็เป็นการได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องไปต่อทะเบียนอีก เมื่อมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 16 ทวิ ใช้บังคับแล้ว หากจำเลยจะต้องขาดสัญชาติไทยไปตามบทกฎหมายมาตรานี้ ก็ต้องถือว่าขาดในวันใช้บทกฎหมายมาตรานี้บังคับ และแม้จำเลยจะมีผิดก็ย่อมเป็นผิดฐานไม่มีใบสำคัญตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 กล่าวคือจำเลยเพิ่งมีหน้าที่จะต้องขอใบสำคัญประจำตัว เป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน