คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แผลถูกต่อยบริเวณใต้นมซ้ายเป็นรอยฟกช้ำ กว้างยาว 3 เซนติเมตร อาการฟกช้ำและไอ ไม่เป็นบาดเจ็บ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2497 เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจใช้เท้าและมือทำร้ายร่างกายโจทก์ เช่น เตะ ถีบ ชก แทงโจทก์ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถประกอบการงานได้ประมาณ 16 วันดังปรากฏในใบชันสูตรบาดแผลซึ่งโจทก์จะขอหมายเรียกส่งศาลในวันพิจารณา เหตุเกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาโจทก์ได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแล้ว เจ้าพนักงานสอบสวนพิจารณาปรับจำเลยเสียเอง ซึ่งโจทก์เห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจที่จะปรับจำเลยได้ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บมาก โจทก์จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 254

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้

จำเลยให้การรับว่า ได้ชกโจทก์ 1 ที เพราะบันดาลโทสะเนื่องจากโจทก์ด่าว่าท้าทายจำเลยก่อน และขอตัดฟ้องว่า คดีนี้จำเลยถูกปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานสอบสวน เป็นเงิน 50 บาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องร้องอีกได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยชกโจทก์เพียง 1 ที บาดแผลของโจทก์เป็นเพียงบาดแผลฟกช้ำไม่ ถึงบาดเจ็บเป็นแต่เพียงนายแพทย์พยานโจทก์ว่า โจทก์มีอาการเจ็บที่ชายโครงและมีอาการไอ ซึ่งก็ไม่พอว่าเป็นบาดเจ็บทุพพลภาพ ตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษการกระทำของจำเลยเป็นผิดเพียงฐานลหุโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 338(3) ซึ่งปรากฏว่า เรื่องนี้พนักงานสอบสวน อำเภอเมืองได้เปรียบเทียบปรับจำเลย เป็นเงิน 50 บาท จำเลยยินยอมชำระค่าปรับ คดีอาญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ข้อ 2 แล้วจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าบาดแผลของโจทก์บริเวณใต้นมซ้ายมีรอยฟกซ้ำ เนื้อที่ประมาณ 3×3 เซนติเมตร ยังไม่ถึงบาดเจ็บ ความผิดของจำเลยเป็นเพียงลหุโทษซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและผู้ต้องหายินยอมเสียค่าปรับแล้วคดีเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดนี้อีกจึงพิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า (1) ตามคำนายแพทย์พยานโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงอวัยวะภายในต้องรักษาตัวประมาณ 16 วัน แม้ไม่มีบาดแผลถึงเลือดออกการกระทำ ของจำเลยก็เป็นการกระทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ (2) เมื่อฟังว่าจำเลยได้รับบาดเจ็บแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะเปรียบเทียบปรับจำเลยได้

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว การที่จำเลยทำร้ายโจทก์นั้น ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า โจทก์มีอาการเพียงฟกช้ำ และไอ ไม่พอฟังว่า เป็นบาดเจ็บทุพพลภาพ การที่โจทก์ฎีกาว่า ความจริงโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงทุพพลภาพย่อมเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลเดิมได้พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นไปแล้ว ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ศาลฎีกาไม่รับฎีกาโจทก์ไว้พิจารณา และให้ยกฎีกาโจทก์เสีย

Share