คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5071/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลทำการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน แม้จำเลยที่ 3 จะมิใช่กรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และมิได้ลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 เช่นกันและต้องถือว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 4 และ 5 แม้จะยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลเพราะหลบหนีไป โจทก์ก็ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 10

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2529 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินประชาชนทั่วไปด้วยวิธีโฆษณา ประกาศ ชักชวนด้วยวาจา แพร่ข่าวให้ปรากฏต่อประชาชนและจัดให้มีบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ชักชวนประชาชนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อให้มีการกู้ยืมเงินโดยแอบอ้างว่าจำเลยที่ 1 กับนาวาอากาศตรีหญิงประอรและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดสรรบ้านและที่ดินให้แก่กองทัพอากาศและค้าน้ำมันส่งในประเทศและต่างประเทศ โดยประชาชนผู้ร่วมลงทุนหรือให้กู้ยืมเงินจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเงินปันผลร้อยละ 7.5 ต่อเดือน เป็นรายเดือน หรือร้อยละ96 ต่อปี เป็นรายปี ซึ่งเป็นการแน่นอนและไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนแต่อย่างใดและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี อันเป็นอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกเป็นตัวแทนจัดผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ให้กู้ยืมเงินจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกจะรับโดยไม่จำกัดจำนวนคนและจำนวนเงินและจากการโฆษณาประกาศ แพร่ข่าว และชักชวนของจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก ทำให้บุคคลเกินกว่า 10 คนขึ้นไปและประชาชนเข้าใจว่า ธุรกิจที่จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกดำเนินการอยู่นั้น เป็นธุรกิจซึ่งมีการลงทุนเพียงครั้งเดียว จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงให้ได้ ทั้งมีสิทธิได้รับเงินทุนคืนโดยการขอถอนทุนหรือเงินดังกล่าวได้ตามข้อตกลงโดยจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกได้รู้หรือควรรู้แล้วว่าไม่สามารถนำเงินร่วมลงทุนหรือเงินกู้ยืมดังกล่าวไปประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอแก่การนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และยังได้รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนกับพวกจะนำเงินจากผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมมาจ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนโดยวิธีจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ให้กู้ยืมอย่างต่อเนื่องไป และจากการโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว และชักชวนของจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งพันจ่าอากาศเอกภาสกร โชติมุกตะ กับพวกอีกไม่น้อยกว่า 64 คน หลงเชื่อตามคำอวดอ้างของจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก จึงให้จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกกู้ยืมเงินไปรวมทั้งสิ้น8,053,775 บาท โดยจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกได้ร่วมกันและช่วยกันทำและลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ เช่น หนังสือสัญญากู้เงิน หรือเช็ค แล้วมอบให้แก่ประชาชนผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักฐานในการรับเงินดังกล่าว อันเป็นการร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากประชาชนผู้เสียหายเกินกว่า 10 คนขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันเกินกว่า 5,000,000 บาทขึ้นไปโดยมิใช่เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แล้วจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกได้ร่วมกันนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ยอมคืนเงินร่วมลงทุนหรือเงินกู้ยืมดังกล่าวให้แก่ประชาชนผู้เสียหายนับตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม 2529 ตลอดมาและหลบหนีไป ทำให้ประชาชนผู้เสียหายไม่ได้รับเงินคืน พนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดดังกล่าวจริง และเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลายโดยมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้สิน และเห็นสมควรให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อน เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 4 และ 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นบุคคลล้มละลายเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดนำเงินมาแบ่งชำระหนี้แก่ประชาชนผู้เสียหายต่อไป ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ทั้งมิได้ร่วมกับนาวาอากาศตรีหญิงประอร หรือจำเลยคนใดกู้ยืมเงินประชาชนทั่วไปตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีนาวาอากาศตรีหญิงประอรและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินกิจการเพียงสองคน จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและกรรมการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินตามฟ้อง และไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สิน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และได้ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจหรือมีส่วนรู้เห็นในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 ได้รับการชักชวนให้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1แต่มิได้เข้าร่วมเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่เคยมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 และไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินหรือเช็คหรือในเอกสารอื่นใดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 ถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจ หรือมีส่วนรู้เห็นในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 7 ได้ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วจึงไม่ต้องรับผิดชำระอีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 7 ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 จำเลยที่ 7 ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ประกอบพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 10 โจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าฤชาธรรมเนียมและโจทก์มิได้แต่งทนายความ จึงไม่กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์มิได้แต่งทนายความแก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 เท่านั้น ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่มีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 15 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3ให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจโทอัมพร ไทรงาม พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานว่า ตามทางสอบสวนได้ความว่าจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1และได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นกระทำความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 โดยได้ร่วมกันชักชวนประชาชนให้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปร่วมลงทุนในธุรกิจจัดสรรบ้านและที่ดิน ตลอดจนกิจการค้าน้ำมันโดยจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ และได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากประชาชนผู้ร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 64 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 8,000,000 บาทเศษเจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และจำเลยอื่นในความผิดดังกล่าวแต่จำเลยที่ 3 หลบหนีไป เมื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลทำการกู้ยืมเงินดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 จะมิใช่กรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และมิได้ลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้กู้ยืมเงินตามนัยแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 เช่นกันและต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย เมื่อจำเลยที่ 3ในฐานะผู้กู้ยืมเงินและเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และ 5 แม้จะยังมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลเพราะจำเลยที่ 3 หลบหนีไป โจทก์ย่อมฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 10 ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2534 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 6 เพื่อสนับสนุนว่าจำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 ในคดีดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ในคดีนี้จึงไม่อาจนำมาปรับแก่จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share