คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมปลดหนี้ให้บุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นแม่ลูกกันโดยที่ต่างก็รู้อยู่ว่าเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเจ้าหนี้ก็ชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมปลดหนี้นั้นเสียได้
การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องแก่บุคคลที่ 3อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เจ้าหนี้ย่อมร้องแทนลูกหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 48/2495 จำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 เดิมเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 20/2494 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพื่อชำระให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำนิติกรรมปรานีประนอมยอมความโดยต่างมีค่าตอบแทนมิใช่ให้โดยเสน่หา และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์อื่นอีก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมปลดหนี้หรือยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 (ม.237) โดยข้อเท็จจริงว่านิติกรรมยอมความนั้นไม่มีค่าตอบแทนและจำเลยที่ 2 อยู่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าว่าความโจทก์ตามคำพิพากษา และให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ต้องชำระโจทก์ แต่ไม่เกิน 6,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์นำสืบไม่สมว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตามคดีแพ่งแดงที่ 20/2494 โดยเสน่หาแต่กลับได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 3,000 บาทแต่ก็ยังน้อยกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 ประมาณ 10,000 บาทเศษ ซึ่งเป็นจำนวนมากอยู่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 48/2495 เสียเปรียบทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้ง 2 เสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ โจทก์ไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งมีอยู่แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตนตามคำพิพากษาดังกล่าวเบื้องต้น เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 เสียประโยชน์ โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของโจทก์เองแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ โจทก์ย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 พิพากษายืน

Share