คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถืออาวุธเข้าไปค้นตัวคนร้ายในบ้านโจทก์โดยจำเลยอ้างว่าติดตามคนร้ายมาทางบ้านโจทก์ แต่คำของจำเลยเองก็ไม่ปรากฏว่าคนนั้นได้กระทำความผิดอย่างใดและพฤติการณ์ที่จำเลยไปถามคนอื่นและไปถามโจทก์นั้นก็แสดงว่าจำเลยไม่รู้ว่าคนนั้นไปทางไหนเพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าคนร้ายได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในบ้านโจทก์ ให้พ้นความรับผิดฐานบุกรุกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนบุกรุกเข้าไปในเคหะสถานของโจทก์ กล่าวคำใส่ความและค่าโจทก์ ใช้ปืนพยายามยิงโจทก์จะฆ่าให้ตาย และกล่าวคำอาฆาตมาดร้ายต่อโจทก์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 327, 328, 282, 339(2), 249-60, 30, 70, 7

จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยเป็นกำนันติดตามคนร้ายไป คนร้ายหายตัวไปในบริเวณหน้าบ้านโจทก์ จำเลยได้ร้องห้ามไม่ให้คนเข้าออกจากบ้านจำเลยกระทำตามหน้าที่

ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเห็นว่า จำเลยมีเหตุอันควรสงสัยว่าคนร้ายเข้าไปซุกซ่อนอยู่ในบ้านโจทก์ จำเลยมีอำนาจเข้าไปได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92(3), 96(2) จึงไม่ผิดฐานบุกรุก ข้อหาว่าพยายามใช้ปืนยิงโจทก์เป็นแต่จำเลยประทับปืนจ้องจะยิงไปทางโจทก์แล้วคนเข้าไปจับมือออกไปเสียยังไม่เป็นผิดฐานพยายามฆ่าคน แต่จำเลยได้ด่าโจทก์ซึ่งหน้าและกล่าวคำอาฆาต พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 339(2) ให้ปรับ 50 บาท กับผิดตาม มาตรา 30 ให้เรียกประกันทัณฑ์บนกำหนดเวลา 2 ปี ผิดทัณฑ์บนให้ปรับ 500 บาท

โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 329 วรรคท้ายด้วย ให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี นอกจากนี้คงยืน

โจทก์ฎีกาว่าไม่ควรรอการลงอาญาแก่จำเลย

จำเลยฎีกา แต่ศาลสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาเรื่องบุกรุกซึ่งจำเลยฎีกาว่ากรณีมีเหตุที่จำเลยควรสงสัยว่าคนร้ายเข้าไปอยู่ในบ้านโจทก์ดังศาลจังหวัดวินิจฉัย

ศาลฎีกาเห็นว่าในข้อที่จำเลยแก้ว่ามีเหตุที่จำเลยควรสงสัยว่าผู้ร้ายเข้าไปในบ้านโจทก์ จำเลยเป็นกำนันจึงมีอำนาจเข้าค้นบ้านโจทก์ได้นั้นได้ความว่าแม้แต่ตามคำของจำเลยเองก็ไม่ปรากฏว่าคนที่จำเลยไปถามนายร่วมแล้วจึงไปถามโจทก์ก็แสดงอยู่ว่าจำเลยไม่รู้ว่าคนนั้นไปทางไหน จึงไม่มีเหตุจะควรสงสัยว่าคนร้ายได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในบ้านของโจทก์ ฉะนั้นที่จำเลยฎีกาว่ามีเหตุที่จำเลยควรสงสัยว่าคนร้ายเข้าไปอยู่ในบ้านโจทก์จึงฟังไม่ได้ กรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 หรือ 96

พิพากษายืน

Share