คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปลัดอำเภอตรวจสอบอาวุธปืนกับใบอนุญาตตามคำสั่งกระทรวงได้เรียกเงินจากราษฎรในการนี้ตามข้อตกลงระหว่างกรมการอำเภอเพื่อเอาเงินไปสร้างที่พักข้าราชการ โดยที่ไม่เป็นเงินที่จำต้องให้ตามกฎหมายย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 137
ปลัดอำเภอเรียกเงินราษฎรเพื่อมาสร้างที่พักตามความคิดของกรมการอำเภอ แต่คงถูกฟ้องแต่จำเลยคนเดียวผู้อื่นไม่ถูกฟ้อง ก็เป็นเหตุควรรอการลงโทษได้

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ทำทะเบียนอาวุธปืนใหม่ให้ถูกต้อง กรมการอำเภอจึงให้ราษฎรนำอาวุธปืนกับทะเบียนมาสอบ กรมการอำเภอเลยถือโอกาสเรียกเงินเพื่อสร้างที่พักข้าราชการโดยขายบัตรมหรสพ ราคา 10 บาท และ 20 บาท ราษฎรต้องเสียเงินให้จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอและสมุห์บัญชีอำเภอเพื่อการนี้ก็เพราะจำเลยเรียกเอา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 137 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2484 มาตรา 3 และให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาดังนี้

“โดยที่เงินที่จำเลยเรียกและรับเอาจากราษฎรนั้นเป็นเงินที่จำเลยไม่มีอำนาจเรียกหรือรับเอาตามกฎหมาย แม้จะเป็นการเรียกและรับเอาเพื่อช่วยก่อสร้างบ้านพักข้าราชการก็เป็นการเรียกและรับเอาเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 137 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2484 มาตรา 3 จึงเป็นการชอบแล้ว

มีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้รอการลงโทษนายสมทบ ไกรโชค จำเลยที่ 2 ไว้โดยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษมาแต่ก่อน และจำเลยได้คืนเงินให้ราษฎรแล้ว ทั้งการกระทำของจำเลยไม่เห็นได้ถนัดว่าจำเลยมุ่งหวังเรียกหรือรับเงินไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้นเป็นการสมควรหรือไม่ สำหรับข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าทางพิจารณาได้ความชัดว่าผู้ที่เป็นต้นคิดให้เรียกเงินจากราษฎรที่นำปืนไปให้ตรวจเพื่อนำไปก่อสร้างบ้านพักข้าราชการนั้น ก็คือ นายจรัส สิทธิพงษ์นายอำเภอและคณะกรมการอำเภอโกรกพระในขณะเกิดเรื่องนี้นั่นเอง การที่จำเลยไปเรียกเอาเงินค่าตรวจปืนจากราษฎรที่ตำบลโคกหม้อ จึงเป็นการอนุวัตตามความประสงค์ของนายอำเภอและคณะกรมการอำเภอที่ได้ตกลงกันไว้แล้วเท่านั้น การที่นายสมทบไปตรวจปืนที่ตำบลโคกหม้อนั้น นายสมทบมีอำนาจทำได้เพราะนายสมทบได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยและนายอำเภอโกรกพระให้เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ถ้านายสมทบตรวจปืนและใบอนุญาตให้แก่ราษฎรในท้องที่โดยไม่คิดเอาสิ่งตอบแทนเลย ก็ย่อมเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ราษฎร และเป็นการปรานีราษฎรอย่างไม่มีปัญหา การผิดกฎหมายอยู่ที่การเรียกและรับเอาเงินจากราษฎรเป็นค่าตรวจปืนนี้เท่านั้น แต่การที่นายอำเภอสั่งให้ราษฎรนำปืนไปตรวจที่อำเภอแล้วบอกขายบัตรแก่ราษฎรเหล่านั้นโดยไม่ปรากฏว่ามีใครกล้าปฏิเสธไม่ซื้อ ก็มีลักษณะเป็นการบังคับเอาเงินอันมิควรจะได้รับจากราษฎรทางอ้อมนั่นเอง คณะกรมการอำเภอโกรกพระทั้งคณะจึงอยู่ในฐานะคล้ายคลึงกับจำเลย ฉะนั้น นอกจากเหตุที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นกล่าวเพื่อรอการลงโทษจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้อื่นในคณะกรมการนั้นถูกฟ้องร้องให้ลงโทษก็สมควรจะกรุณานายสมทบ ที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษนายสมทบ จำเลยไว้มีกำหนด 3 ปี จึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนนายสรรพศรีจำเลยที่ 1 นั้นปรากฏว่าต้องโทษตามคำพิพากษาในคดีอาญาอันมิใช่ลหุโทษหรือโทษฐานประมาทอยู่แล้ว ศาลจะรอการลงโทษให้อีกไม่ได้ อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัยมา จึงพร้อมกันพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ”

Share