คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ แม้โจทก์ไม่ได้ตัวเจ้าทรัพย์มาสืบแต่มีตำรวจผู้จับเป็นพยานประกอบว่าเจ้าทรัพย์ได้ชี้ให้จับจำเลยในเวลาใกล้ชิด ก็ฟังลงโทษฐานลักทรัพย์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2496 เวลากลางคืนจำเลยบังอาจเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของนางนาค ม่วงเงิน ไปหลายอย่างรวมราคา 378 บาท โดยใช้กิริยาฉกฉวยเอาทรัพย์หนีไปต่อหน้าในที่จอดรถไฟสถานีอุบลราชธานี เหตุเกิดที่ตำบลวาริน อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 293, 294, 297 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 378 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 294 วรรค 2 ให้จำคุก 2 ปี จำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 58 ทวิ คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และลดโทษให้อีก 1 ใน 4 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 ที่ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนคงเหลือโทษจำคุก1 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 378 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า โจทก์มีเจ้าทรัพย์คนเดียวที่เห็นและจำชายคนเอาของของเจ้าทรัพย์ไปจากสถานี แต่ไม่ได้ตัวเจ้าทรัพย์มาสืบเป็นพยาน ข้อเท็จจริงที่ว่าชายคนเอาของของเจ้าทรัพย์ไปจากสถานีจะใช่จำเลยหรือไม่ เป็นข้อสำคัญซึ่งจะต้องซักถามกันอย่างถ้วนถี่แน่ชัด เจ้าทรัพย์อาจจะจำคนผิดแล้วไปชี้ให้ตำรวจจับจำเลยก็เป็นได้ เมื่อไม่ได้ตัวเจ้าทรัพย์มาสืบให้เป็นที่แน่ว่าจำเลยเป็นคนเอาของของเจ้าทรัพย์ไปถึงแม้จะมีตำรวจผู้จับมาเป็นพยานว่าเจ้าทรัพย์ให้จับจำเลยโดยข้อกล่าวหาว่าเป็นคนเอาของของเจ้าทรัพย์ไปคดีของโจทก์ก็ยังไม่มั่นคงพอจะเอาผิดจำเลยตามฟ้อง จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำนางนาคเจ้าทรัพย์มาเบิกความไม่ได้เพราะไม่ทราบที่อยู่ คงส่งอ้างแต่คำให้การชั้นสอบสวนของเจ้าทรัพย์กับนำพยานอื่นสืบประกอบได้ความว่าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2496 เวลากลางคืน เจ้าทรัพย์ลงจากรถไฟที่สถานีรถไฟอุบลฯ ขณะที่เอาตั๋วโดยสารให้แก่คนเก็บตั๋วที่ชานชลาสถานี มีคนมาเอากระเป๋าพลาสติกกับชลอมซึ่งมีของอยู่ข้างในหลายอย่างตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไปโดยบอกว่าจะเอาไปขึ้นรถยนต์ซึ่งตนเป็นเจ้าของรถ เจ้าทรัพย์ห้ามปรามก็ไม่ฟัง ยังขืนเอาไปจนได้แล้วพาของหายไป เจ้าทรัพย์ตามมาถึงท่าข้ามที่หาดสวนยาตามหาของไม่พบ พบจำเลยซึ่งจำได้ว่าเป็นคนที่เอาของของเจ้าทรัพย์ไปเจ้าทรัพย์ได้ถามหาของ จำเลยรับว่าได้เอาของขึ้นรถจริง แต่ตอนลงจากรถของไม่เห็นเจ้าทรัพย์จึงแจ้งต่อตำรวจที่หาดสวนยาให้จับจำเลย ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ

จำเลยผู้เดียวอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ปกติทำงานอยู่กับรถประจำทางสายอุบลฯ ถึงยะโสธร มีหน้าที่หาคนโดยสารและขนของขึ้นรถ ตอนเย็น ๆ ทุกวัน จำเลยไปคอยรับคนอยู่ทางฝั่งหาดสวนยาวันที่โจทก์หาจำเลยก็ไปคอยรับคนอยู่เช่นเคย มีเจ้าทรัพย์มาชี้ตัวว่าจำเลยเป็นคนรับของมาจากสถานีแล้วทำหาย จำเลยปฏิเสธ ตำรวจปล่อยตัว วันรุ่งขึ้นจำเลยไปคอยรับคนอีก ตำรวจได้จับจำเลยนำไปที่บ้านนายร้อยตำรวจโทปรีชา พบเจ้าทรัพย์ ๆ ยืนยันชี้จำเลยอีก ที่จำเลยรับชั้นสอบสวนเพราะเจ้าพนักงานพูดดัง ๆ ตบโต๊ะใส่หน้า จำเลยกลับเลยรับ

ได้พิเคราะห์คำพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยตลอดแล้ว คำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนนั้น โจทก์มีนายมังกร ภาคบุตร ปลัดอำเภอพนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบว่าจำเลยให้การรับด้วยความสมัครใจไม่มีใครบังคับขู่เข็ญเสี้ยมสอนอย่างใด และมีพลตำรวจน้อย ศรีโทกับนายร้อยตำรวจโทปรีชา ภูมิดิษฐ์ ผู้รับแจ้งเหตุการณ์ในเวลากระชั้นชิด เป็นพยานรับรองเจือสมว่าจำเลยได้ให้การรับมาแต่ต้นก่อนมีการสอบสวนว่าจำเลยเป็นคนเอาของของเจ้าทรัพย์ไปจริง ไม่มีเหตุผลอะไรจะสงสัยว่าจำเลยให้การรับด้วยความไม่สมัครใจดังจำเลยยกขึ้นอ้าง เมื่อคำรับชั้นสอบสวนของจำเลยรับฟังได้ว่าเป็นคำรับด้วยความสมัครใจเช่นนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าชายคนเอาของของเจ้าทรัพย์ไปอาจเป็นคนอื่นไม่ใช่จำเลย เจ้าทรัพย์อาจจะจำคนผิดแล้วไปชี้ให้ตำรวจจับจำเลย ดังศาลอุทธรณ์กล่าว จึงไม่น่าจะเป็นได้และโจทก์มีคำพลตำรวจน้อย ศรีโท ผู้จับประกอบว่าเจ้าทรัพย์ได้ชี้ให้จับจำเลยในเวลาใกล้ชิด โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้เอาของ ๆ เจ้าทรัพย์ไป จำเลยรับต่อตำรวจในเวลานั้นว่าได้เอาของนั้นไปขึ้นรถจริงคดีพอฟังเอาผิดแก่จำเลยตามฟ้องโจทก์ได้ แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวเจ้าทรัพย์มาสืบ มีแต่คำให้การชั้นสอบสวนเท่านั้นก็ตาม ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share