แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์กับ ช. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2480 ตึกแถวพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ ช. ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ช. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1466 เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 วรรคสอง เดิม ช. ให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทตั้งแต่ปี 2509 และปี 2529 ช. ได้จดทะเบียนให้จำเลยเช่า 30 ปี ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับ ช. ตกลงเป็นอย่างอื่น ช. จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการตึกแถวพิพาทได้ฝ่ายเดียวมาแต่แรกตามมาตรา 1468 เดิม และตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 ก็บัญญัติรับรองว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ท้าย พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบรรพ 5 ใหม่นี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียวให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสนั้นจัดการสินสมรสด้วย ช. เพียงฝ่ายเดียวจึงมีอำนาจให้เช่าตึกแถวพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 เดิม นิติกรรมการเช่าตึกแถวพิพาทซึ่งทำไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2529 ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 57/12 ซอยวัฒนวงศ์ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 158/2529 ลงวันที่19 มีนาคม 2529 ของสำนักงานเขตพญาไทระหว่างร้อยตรีชด อินทสงค์ ผู้ให้เช่ากับนายกฤช โลจนโรจน์ ผู้เช่า
จำเลยให้การต่อสู้คดี และขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์กับร้อยตรีชดจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2480 ตึกแถวพิพาทปลูกอยู่บนส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3754 เป็นทรัพย์สินที่ร้อยตรีชดได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับร้อยตรีชดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1466 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 วรรคสอง เดิม เมื่อได้ความว่าร้อยตรีชดให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทตั้งแต่ปี 2509 ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2529 ร้อยตรีชดได้จดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทให้จำเลยมีกำหนด 30 ปี ตามเอกสารหมาย จ.11 ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับร้อยตรีชดตกลงกันเป็นอย่างอื่น ร้อยตรีชดจึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการตึกแถวพิพาทได้แต่ฝ่ายเดียวมาแต่แรกตามมาตรา 1468 เดิม แม้ภายหลังจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2519พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 ก็บัญญัติรับรองว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ถือว่าสินเดิมตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมของฝ่ายใดเป็นสินส่วนตัวตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ของฝ่ายนั้นเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งของตนด้วย…” ดังนั้น ร้อยตรีชดเพียงฝ่ายเดียวย่อมมีอำนาจให้เช่าตึกแถวพิพาทได้ เมื่อจำเลยเช่าตึกแถวพิพาทจากร้อยตรีชด ร้อยตรีชดจึงมีสิทธิทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่จำเลยมีกำหนด 30 ปี โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 เดิม นิติกรรมการเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างร้อยตรีชดกับจำเลยซึ่งทำไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.11 จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ขอให้เพิกถอนไม่ได้ และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ให้ความยินยอมการเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน