แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ครั้งแรก จำเลยและ ถ. ไปบ้านผู้เสียหาย ถ. บอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยได้ยินคำพูดของ ถ. แต่ก็นิ่งเฉยและมิได้ปฏิเสธเท่ากับจำเลยต้องการให้ผู้เสียหายเชื่อหรือเข้าใจตามที่ ถ. บอก ทั้งจำเลยได้เรียกเงินจำนวน 2,000บาท จากผู้เสียหายมิฉะนั้นจะจับผู้เสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานแล้ว ส่วนการเรียกรับเงินครั้งที่สอง แม้จำเลยไม่ได้บอกหรืออ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่จำเลยเคยไปหาผู้เสียหายและมีพฤติการณ์แสดงให้ผู้เสียหายเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง ทั้งผู้เสียหายเคยให้เงินแก่จำเลยเพื่อมิให้ถูกจับมาก่อน การที่จำเลยไปเรียกเงินจากผู้เสียหายอีกโดยขู่ว่าหากไม่ให้จะจับผู้เสียหาย จนผู้เสียหายยอมให้เงินจำนวน 2,000 บาท แก่จำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น และมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 และ 337
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 145, 337
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 145, 337 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานกรรโชกทรัพย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 9 เดือน รวม 2 กระทงจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแล้ว กรณีมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งในชั้นนี้ว่า จำเลยมิได้เป็นพนักงานตำรวจ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537และวันที่ 11 กันยายน 2537 จำเลยไปที่บ้านผู้เสียหายและรับเงินจากผู้เสียหายรวม2 ครั้ง ครั้งละ 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยข้อหาว่าแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน กรรโชกทรัพย์จำเลยคืนเงินจำนวน 4,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่… แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7กันยายน 2537 จำเลยและนายถนอมไปบ้านผู้เสียหาย นายถนอมบอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นได้ว่าการที่นายถนอมบอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยได้ยินคำพูดของนายถนอมแต่จำเลยก็นิ่งเฉยและมิได้ปฏิเสธแต่อย่างใดเท่ากับจำเลยต้องการให้ผู้เสียหายเชื่อหรือเข้าใจตามที่นายถนอมบอกนั่นเองทั้งจำเลยยังได้เรียกเงินจำนวน 2,000 บาท จากผู้เสียหายมิฉะนั้นจะจับผู้เสียหายเช่นนี้พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานแล้ว นอกจากนี้ชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 และจำเลยยอมคืนเงินจำนวน 4,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายด้วยตามบันทึกการให้ค่าทดแทนผู้เสียหาย เอกสารหมาย จ.3 ข้อที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยรับเงินจำนวน4,000 บาท จากผู้เสียหายเนื่องจากไปทวงหนี้การพนันชนไก่แทนนายถนอมนั้น เห็นว่าหากจำเลยทวงหนี้การพนันชนไก่แทนนายถนอมจริง จำเลยควรถามค้านผู้เสียหายเกี่ยวกับหนี้การพนันดังกล่าวไว้ เพื่อให้ผู้เสียหายมีโอกาสชี้แจงถึงหนี้การพนันดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยมิได้ถามผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กลับไปถามค้านพยานโจทก์ปากนางลมัยแม้นางลมัยเบิกความว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้นายถนอมเนื่องจากการพนันชนไก่แต่จำนวนเท่าใดไม่ทราบ ก็มิได้หมายความว่า จำเลยรับเงินจำนวน 4,000 บาท จากผู้เสียหายเนื่องจากไปทวงหนี้การพนันชนไก่แทนนายถนอมดังที่จำเลยอ้างเพราะนางลมัยมิได้เป็นผู้รู้เห็นการเป็นหนี้ระหว่างผู้เสียหายกับนายถนอม ทั้งนางลมัยก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าจำเลยเรียกเงินดังกล่าวไม่ได้อ้างว่าจะนำเงินไปให้นายถนอมแต่ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยเนื่องจากผู้เสียหายเคยค้ากัญชาและเกรงว่าจะถูกจำเลยจับ พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ คดีฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น และฐานกรรโชกทรัพย์ตามฟ้อง
ส่วนการรับเงินครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 นั้น โจทก์มีผู้เสียหายและนางลมัยเป็นพยานยืนยันว่า จำเลยเรียกเงินจำนวน 5,000 บาท จากผู้เสียหายเพื่อนำไปให้สารวัตร หากไม่ยอมให้จำเลยจะจับ ผู้เสียหายเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกลัวถูกจับจึงต่อรองเหลือจำนวน 3,000 บาท วันนั้นผู้เสียหายมอบเงินจำนวน 2,000บาท ให้จำเลย ส่วนที่เหลือจะให้วันหลัง เห็นว่า แม้วันที่ 11 กันยายน 2537 จำเลยไม่ได้บอกหรืออ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่จำเลยเคยไปหาผู้เสียหายและมีพฤติการณ์แสดงให้ผู้เสียหายเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง ทั้งผู้เสียหายเคยให้เงินแก่จำเลยเพื่อมิให้ถูกจับมาก่อน การที่จำเลยไปเรียกเงินจากผู้เสียหายอีกโดยขู่ว่าหากไม่ให้จะจับจนผู้เสียหายยอมให้เงินจำนวน 2,000 บาท แก่จำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น และกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น