แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยร่วมกันไปบนเกาะรูสิบซึ่งมีนกและรังนกอีแอ่นอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นเขตห้ามตามกฎหมาย และเป็นเขตที่บริษัท ร. ผู้เสียหายเป็นผู้รับสัมปทานและเข้ายึดถือครอบครองดูแลรังนกอีแอ่นในเขตสัมปทานเพื่อตนแล้ว จำเลยไม่ใช่ผู้รับสัมปทานได้ร่วมกันใช้ไฟฉายส่องใช้ไม้และแท่งเหล็กตีทำลายรังนกที่อยู่อาศัยอันเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นไข่ของนกและรังนกอีแอ่น และอาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นและที่อยู่อาศัยไปจากเกาะดังกล่าว แล้วจำเลยร่วมกันลักรังนกและลูกนกอีแอ่นของผู้เสียหายในเขตสัมปทานดังกล่าวไปโดยทุจริต โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันครอบครองซึ่งรังนกอันตนรู้ว่าได้มาโดยการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯ มาตรา 26 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 26 มาในฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันขึ้นไปบนเกาะรูสิบหรือเกาะรูซิม ซึ่งมีนกอีแอ่นและรังนกอีแอ่นอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นเขตห้ามตามกฎหมายและเป็นเขตที่บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหายเป็นผู้รับสัมปทานจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และเป็นผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 และผู้เสียหายเข้ายึดถือครอบครองดูแลรังนกอีแอ่นในเขตสัมปทานดังกล่าวเพื่อตนแล้ว จำเลยทั้งสิบเอ็ดซึ่งไม่ใช่ผู้รับสัมปทานจากคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นได้ร่วมกันใช้ไฟฉายส่องใช้ไม้และแท่งเหล็กตีทำลายรังนกที่อยู่อาศัยของนกอีแอ่นอันเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่น ไข่ของนกอีแอ่นและรังนกอีแอ่นและอาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละที่อยู่อาศัยไปจากเกาะรูสิบ จนรังนกและลูกนกอีแอ่นตกลงมาแล้วจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันลักเอารังนกอีแอ่นชนิดดำ น้ำหนัก 17.5 กิโลกรัม ราคา 85,000 บาท และลูกนกอีแอ่น50 ตัว ของผู้เสียหายในเขตสัมปทานดังกล่าวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มาตรา 14, 25, 26, 28, 31, 33 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 33, 83, 90 ริบของกลางยกเว้นรังนกอีแอ่นและลูกนกอีแอ่น
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 25 วรรคหนึ่ง, 26, 28, 31 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ริบของกลางยกเว้นรังนกอีแอ่นและลูกนกอีแอ่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสิบเอ็ดฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดกระทำความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอันตนรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดกฎหมายด้วยนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันไปบนเกาะรูสิบหรือเกาะรูซิม ซึ่งมีนกและรังนกอีแอ่นอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นเขตห้ามตามกฎหมายและเป็นเขตที่บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหายเป็นผู้รับสัมปทานและเข้ายึดถือครอบครองดูแลรังนกอีแอ่นในเขตสัมปทานเพื่อตนแล้ว จำเลยทั้งสิบเอ็ดซึ่งไม่ใช่ผู้รับสัมปทานจากคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นได้ร่วมกันใช้ไฟฉายส่อง ใช้ไม้และแท่งเหล็กตีทำลายรังนกที่อยู่อาศัยของนกอีแอ่นเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่น ไข่ของนกอีแอ่นและรังนกอีแอ่น และอาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละที่อยู่อาศัยไปจากเกาะรูสิบ แล้วจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันลักรังนกอีแอ่นชนิดดำ น้ำหนัก 17.5 กิโลกรัมราคา 85,000 บาท และลูกนกอีแอ่น 50 ตัว ของผู้เสียหายในเขตสัมปทานดังกล่าวไปโดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันครอบครองซึ่งรังนกอันตนรู้ว่าได้มาโดยการฝ่าฝืนมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นพ.ศ. 2540 แต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มาตรา 26 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดกระทำความผิดอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 26 มาในฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดมีความผิดฐานร่วมกันมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นรังนกที่ได้มาโดยกระทำผิดกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสิบเอ็ดข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อจำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอันตนรู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมายแล้ว ที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดฎีกาในปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องเป็นการเกินคำขอนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยอีก…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนก อันตนรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9