คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2981/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 5 ธันวาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับแต่วันครบอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอ การนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงต้องนับจากวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือต่อจากวันที่5 โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันที่ 6,7และ 8 ธันวาคม 2541 จะตรงกับวันหยุดทำการหรือไม่เพราะวันดังกล่าวไม่ใช่วันสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 เมื่อเริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ที่ขอขยายครั้งแรกคือวันที่ 6 ธันวาคม 2541 จะครบกำหนด 20 วัน ในวันที่ 25 ธันวาคม2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ 10วัน นับถัดจากวันครบกำหนดที่อนุญาตครั้งแรก การนับระยะเวลาที่ขยายออกไปในครั้งหลังจึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 4 มกราคม 2542 จำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 6 มกราคม 2542 จึงเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายให้แล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วไม้รวกและสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินพิพาทกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ5,000 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสอง ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประเด็นแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและยกคำสั่งรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 หลังจากนั้นวันที่ 3 ธันวาคม 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 20 วันนับแต่วันครบอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับแต่วันครบกำหนดที่ขอขยายครั้งแรก ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 10 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดที่อนุญาตครั้งแรก จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์วันที่ 6 มกราคม 2542 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ เห็นว่า คดีครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน คือวันที่ 5 ธันวาคม 2541 เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับแต่วันครบอุทธรณ์และศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอการนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงต้องนับแต่จากวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือต่อจากวันที่ 5 โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันที่ 6, 7 และ 8 ธันวาคม 2541 จะตรงกับวันหยุดทำการหรือไม่ เพราะวันเวลาดังกล่าวไม่ใช่วันสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 เมื่อเริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ที่ขอขยายครั้งแรกคือวันที่ 6 ธันวาคม 2541 ก็จะครบกำหนด 20 วัน ในวันที่25 ธันวาคม 2541 และเมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ 10 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดที่อนุญาตครั้งแรก การนับระยะเวลาที่ขยายออกไปในครั้งหลังนี้จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปซึ่งจะครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 4 มกราคม 2542 จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์วันที่ 6มกราคม 2542 จึงเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายให้แล้ว ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นอื่น ๆ ไม่จำต้องวินิจฉัย

อนึ่ง เนื่องจากคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ 5,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้แก้ไขนั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน แต่ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองโดยให้คงเหลือไว้ 200 บาท ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share