คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์จำเลยตกลงให้โจทก์ออกทุนขยายทางพิพาทให้กว้างเพื่อใช้ร่วมกัน แต่สัญญาข้อตกลงนี้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 นั้น ย่อมไม่ทำให้โจทก์ได้ทรัพย์สิทธิเป็นภารจำยอม แต่การไม่จดทะเบียนฯดังกล่าวนั้นหาได้ทำให้สัญญาข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ คือเป็นเพียงยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น โดยเหตุนี้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลก่อให้เกิดบุคคลสิทธิเรียกร้องบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา ฉะนั้น โดยอาศัยสัญญาดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยคู่สัญญามิให้ขัดขวางในอันที่โจทก์จะใช้ทางพิพาทตามข้อตกลงในสัญญาได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และยื่นคำร้องขอให้เรียกนางนุริยะและนางบัดรียะห์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม แล้วขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องศาลชั้นต้นอนุญาต คำฟ้องและคำร้องนั้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 3536 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ พระนครทางทิศเหนือที่ดินโจทก์มีทางสาธารณะชื่อถนนสุขาภิบาล 2 เชื่อมติดต่อกับถนนบางซื่อ-บางกะปิ (หรือถนนลาดพร้าว) ไปออกถนนพหลโยธินตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินเป็นต้นมา โจทก์และบิดาโจทก์กับบริวารใช้รถและเดินผ่านที่ดินของจำเลยในโฉนดที่ 740 เป็นเนื้อที่ดินกว้างประมาณ 11 ศอก ยาวประมาณ 7 ศอก ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเพื่อผ่านออกสู่ถนนสุขาภิบาล 2 อันเป็นทางสาธารณะติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยมิได้ว่ากล่าวห้ามปรามแต่ประการใดจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2499 จำเลยและสามีจำเลยได้ยินยอมให้บิดาโจทก์ทำทางนี้ขึ้นเป็นทางถาวรเพื่อใช้ร่วมกัน โดยบิดาโจทก์ได้ออกเงินซื้อดินและถมหินทางสายนี้จนมีสภาพเป็นถนนเชื่อมกับถนนสุขาภิบาล 2 อยู่ทุกวันนี้ ทั้งโจทก์และบิดามารดาโจทก์ก็ใช้ทางหรือถนนนี้เดินผ่านและนำรถยนต์เข้าออกจากเขตที่ดินและบ้านโจทก์ไปสู่ถนนสุขาภิบาล2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะนั้นตลอดมา เพราะที่ดินโจทก์มีเขตไม่ถึงทางสาธารณะ แต่ตกอยู่ในที่ล้อมรอบของที่ดินบุคคลอื่น ไม่มีทางออกสู่ถนนสุขาภิบาล 2 ได้ นอกจากทางจำเป็นที่ผ่านที่ดินจำเลยนี้เท่านั้นเมื่อโจทก์กับพวกได้ใช้ที่ดินจำเลยเป็นทางเดินมากว่า 10 ปีแล้วทางนี้จึงเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ และเป็นทางจำเป็นตามกฎหมายด้วย ครั้นประมาณวันที่ 8 มกราคม 2504 จำเลยได้ปิดกั้นทางนี้เป็นเหตุให้โจทก์กับพวกใช้เดินและนำรถยนต์เข้าออกไม่ได้ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยเปิดทางภารจำยอมและทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยดังกล่าวและห้ามขัดขวางทางสายนี้

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า ที่ยอมให้บิดาโจทก์ทำทางนี้ก็เนื่องจากบิดาโจทก์ได้มาขอเช่าและมิได้ใช้ทางนี้มามากกว่า 10 ปีและว่าไม่ควรรับคำร้องเพิ่มเติมฟ้อง

จำเลยที่ 2, 3 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็นแต่ฟังว่าโจทก์ใช้ทางนี้มามากกว่า 10 ปี จึงได้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความแล้ว เดิมทางนี้กว้าง 1 เมตรเศษ จำเลยยอมให้โจทก์ทำเป็นทางกว้างใหญ่ขึ้นโดยโจทก์เป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายและจำเลยได้ใช้ร่วมด้วย จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมตามสภาพซึ่งเป็นอยู่ขณะนี้กว้าง 2 วา 1 ศอก พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมกว้าง 2 วา 1 ศอก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เริ่มใช้ทางพิพาทไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ และว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทตกเป็นทางภารจำยอมทางอายุความเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนการที่จำเลยยอมให้โจทก์ขยายทางพิพาทเพื่อใช้สอยร่วมกัน ข้อสัญญานี้ไม่ทำให้ได้รับสิทธิภารจำยอม เพราะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว ปัญหาว่า โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทมาเกิน 10 ปีหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่า โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทหลังจากที่ได้ขยายให้กว้างแล้วไม่ถึง 10 ปี จึงยังไม่ได้ภารจำยอมโดยอายุความ

ที่จำเลยอ้างว่า บิดาโจทก์ได้ขอเช่าที่ดินของจำเลยทำเป็นถนนถาวรนั้น ไม่พอจะเชื่อถือว่าบิดาโจทก์ได้เช่าทางพิพาทจากจำเลย

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่แน่นอนว่าบิดาโจทก์ไม่ได้เช่าทางพิพาทในคดีนี้จากจำเลย แต่ได้ตกลงกับจำเลยโดยบิดาโจทก์เป็นผู้ออกทุนทำถนนนี้ให้กว้างขวางขึ้น แล้วโจทก์จำเลยก็ได้ใช้ถนนนี้ร่วมกันมา ดังนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคงมีต่อไปว่า ที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยเปิดทางภารจำยอมและทางจำเป็นในที่ดินจำเลยโฉนดที่ 740 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนครมีขนาดกว้างประมาณ 11 ศอก ยาว 7 ศอก เพื่อโจทก์บิดามารดาโจทก์และบริวารใช้เดินกับนำรถยนต์ผ่านเข้าออกสู่ถนนสุขาภิบาล 2 ห้ามมิให้จำเลยเข้าขัดขวางทางสายนี้นั้น ศาลจะบังคับจำเลยตามโจทก์ฟ้องได้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า การที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์ขยายทางพิพาทรายนี้เพื่อใช้สอยร่วมกัน ข้อสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวนี้ไม่ทำให้โจทก์ได้ทรัพยสิทธิเป็นภารจำยอม เพราะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม แต่ฟ้องของโจทก์ก็ได้มีคำขอห้ามมิให้จำเลยขัดขวางในการที่โจทก์จะใช้ทางพิพาทที่ได้ขยายออกให้กว้างขึ้นตามข้อตกลงระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยนั้นด้วย ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยนี้ย่อมเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดบุคคลสิทธิขึ้นในอันที่จะเรียกร้องให้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์จำเลย แม้โดยสัญญานี้ คู่สัญญาจะไม่ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในทางภารจำยอม เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1299 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่บทมาตรานี้ก็บัญญัติไว้เพียงว่า ตราบใดที่นิติกรรมสัญญานั้นยังไม่ได้ทำตามแบบที่กำหนดไว้นั้นแล้ว การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น หาได้บัญญัติให้เป็นผลไปถึงว่านิติกรรมหรือสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียเปล่าแต่อย่างใดไม่ เมื่อเป็นดังนี้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลก่อให้เกิดบุคคลสิทธิในอันที่จะเรียกร้องบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา ฉะนั้นโดยอาศัยสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยนี้ โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องห้ามจำเลยในฐานะที่เป็นคู่สัญญามิให้ขัดขวางในอันที่โจทก์จะใช้ทางพิพาทตามข้อตกลงในสัญญานั้นได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ห้ามมิให้จำเลยขัดขวางในอันที่โจทก์จะใช้ทางพิพาทที่ได้ขยายออกให้กว้างขึ้นตามข้อตกลงระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยนั้น ๆ

Share