คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3443/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเป็นสิทธิของโจทก์ เพียงแต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง(1) ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อน การที่โจทก์ไม่ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ศาลไม่อาจสอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ยื่นคำให้การแล้วได้นั้น ศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียได้ แต่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นคำให้การไม่ได้เพราะมาตรา 175 วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าเป็นการถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องโดยยื่นเป็นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล ดังนั้น คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นต้องสั่งอนุญาตเพราะเป็นคนละส่วนกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมดและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เพราะเหตุทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตามเช็คจำนวน 4 ฉบับ จำนวนเงิน 699,057.50 บาท ต่อมาในระหว่างพิจารณาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ และมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีนี้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่า “ให้โจทก์ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่ทนายจำเลยที่ 1 ภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง รอไว้สั่งคำร้องในนัดหน้า” เมื่อถึงวันนัด ปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้ทนายจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องค่าคำร้องให้ตกเป็นพับ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีโจทก์เพราะทิ้งฟ้อง และคำสั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ทิ้งฟ้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) และ (2) กรณีตาม (1) ของมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย ส่วนกรณีตาม (2) เป็นเรื่องโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วศาลฎีกาเห็นว่า กรณีตาม (2) นี้ไม่ได้หมายความว่า เมื่อศาลกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ดำเนินคดีในเรื่องใดแล้ว โจทก์เพิกเฉย จะเป็นกรณีทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) เสมอไปจะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่นโจทก์ไม่มาศาลในวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยานไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใดก็ตาม แม้โจทก์จะเพิกเฉยเหล่านี้ไม่ใช่กรณีที่ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายในเรื่องดังกล่าวบัญญัติไว้ต่อไป สำหรับปัญหาในคดีนี้ เห็นว่า การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเป็นสิทธิของโจทก์เพียงแต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง(1) บัญญัติว่าห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อน ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ศาลไม่อาจสอบถามจำเลยที่ 1 ได้นั้น ศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียได้ แต่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ถ้าเป็นการถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การโจทก์อาจถอนคำฟ้องโดยยื่นเป็นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล ดังนั้น คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นต้องสั่งอนุญาตเพราะเป็นคนละส่วนกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมดและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เพราะเหตุทิ้งฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามรูปคดี

Share