คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดที่จะตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 นั้น หมายถึงทรัพย์สินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการฟ้องร้องต่อศาล หรือหากมีการฟ้องร้องก็ต้องเป็นกรณีที่ศาลมิได้พิพากษาให้ริบหรือสั่งคืนทรัพย์สินของกลางให้แก่เจ้าของ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1327 อยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 และ 36 บัญญัติเรื่องนี้ว่า ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อการเรียกเอาทรัพย์สินตามมาตรา 1327 วรรคหนึ่ง กับการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทรัพย์สินที่ถูกริบคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มีหลักเกณฑ์และวิธีการแตกต่างกัน หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเพิ่งทราบว่าทรัพย์สินของตนถูกศาลพิพากษาให้ริบหลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว ระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางก็ไม่ผ่อนเวลาออกไปเป็น 5 ปี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 82 – 0761 สระบุรี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 – 0906 สระบุรี ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 -0906 สระบุรี และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถพ่วงของกลางแก่ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาริบรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 – 0906 สระบุรี ของกลางคดีนี้คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถพ่วงของกลางเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2543 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ในกรณีที่ผู้ร้องเพิ่งทราบว่าศาลพิพากษาริบทรัพย์ของกลาง ซึ่งเป็นของผู้ร้องหลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว ระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลาง จะต้องผ่อนเวลาออกไปเป็น 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดที่จะตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 นั้นหมายถึงทรัพย์สินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือหากมีการฟ้องร้องต่อศาลก็ต้องเป็นกรณีที่ศาลไม่ได้พิพากษาให้ริบหรือสั่งคืนทรัพย์สินของกลางให้แก่เจ้าของ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1327 อยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 และ 36 บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อการเรียกเอาทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคหนึ่ง กับการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทรัพย์สินที่ถูกริบคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มีหลักเกณฑ์และวิธีการแตกต่างกันเช่นนี้ หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคหนึ่ง จึงไม่ใช่บทขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเพิ่งทราบว่าทรัพย์สินของตนถูกศาลพิพากษาให้ริบหลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว ระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางก็ไม่ผ่อนเวลาออกไปเป็น 5 ปี ดังที่ผู้ร้องฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share