คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1767/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ฟ้องขอแสดงสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดีกว่าผู้อื่นตามความใน มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474 นั้น เป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวนเป็นราคาเงินได้ตามมาตรา 189(3) แม้ในฟ้องจะได้กล่าวอ้างว่าเครื่องหมายการค้ามีราคาถึง 10,000 บาทก็ตามก็ไม่ใช่เรื่องทุนทรัพย์ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
แม้โจทก์จะมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดีกว่าจำเลยก็ตามแต่โจทก์มิได้จดทะเบียนไว้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29วรรคต้นแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะขอห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าได้ ฎีกาที่ 1843/2497

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าประเภทที่ 8 สำหรับสินค้าแว่นตาอย่างเดียวกัน และขอให้ตัวอักษรเป็นเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกันโดยโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “HACOW (ฮาโก้) และจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “MACO” (มาโก้) โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า “HACO” ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีสิทธิจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “MACO” ดีกว่าจำเลย ฯลฯ

จำเลยต่อสู้ว่า “MACO” ของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับ “HACO” ของจำเลยไม่ได้เลียนแบบของผู้ใดและไม่เป็นเหตุให้มหาชนเข้าใจผิด จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนโจทก์ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลย ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”HACO” ดีกว่าจำเลยห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “MACO” ต่อไป และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “MACO” เสีย

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายที่เหมือนกันหากนายทะเบียนเห็นสมควร ก็อาจรับจดทะเบียนให้ทั้งสองฝ่ายได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 18 กรณีที่จะนำคดีขึ้นมาสู่ศาลตาม มาตรา 17 ต้องหมายถึงเฉพาะกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะอ้างอิงได้ดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งได้โต้แย้งสิทธิของตน ผู้ที่เสียสิทธิก็ชอบจะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียน ไม่ปรากฏความใน มาตราใดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าใช้สิทธิอันใดขึ้นตามกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิพิเศษอย่างใดที่จะเอากรณีนี้มาฟ้อง ศาลพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้คู่กรณีนำคดีมาเสนอต่อศาลได้ไม่เกี่ยวกับ มาตรา 18 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ใหม่ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1843/2497

ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีเรื่องนี้ใหม่ และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาอ้างเหตุผล 3 ประการ

ศาลฎีกาเห็นว่าคดีโจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ดีกว่าจำเลยตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เท่านั้นจึงเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 189(3) แม้ในฟ้องของโจทก์ จะได้กล่าวอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีราคาถึง 10,000 บาทก็ไม่ใช่เรื่องทุนทรัพย์ จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเครื่องหมายการค้าเหมือนกันทีเดียว เพียงแต่เกือบเหมือนกันก็เป็นการเพียงพอตามความประสงค์ของกฎหมายมาตรานี้แล้ว

เรื่องใช้เครื่องหมายการค้าสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับวินิจฉัย

คดีนี้เป็นเรื่องต่างกำลังขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยกัน และนายทะเบียนสั่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 อันเป็นบทบัญญัติพิเศษเฉพาะกรณีจำเลยจะยกเอามาตรา 29 วรรคต้นอันเป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีอย่างอื่นขึ้นมาตัดสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ดีแม้โจทก์จะมีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดีกว่าจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคต้นบัญญัติว่า “เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ห้าปีแล้ว ท่านว่าผู้ใดจะนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้” โจทก์ยังไม่มีสิทธิที่จะขอห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “MACO” ในขณะนี้ได้จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อ 2 วรรคต้น เรื่องห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “MACO” ต่อไปนั้น ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share