คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเจตนาผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงิน สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 เดิม วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 เดิม วรรคสองโดยถือว่าจำเลยได้มอบโฉนดที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ทั้งจะต้องฟังว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์จนครบถ้วน และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะดังกล่าวแล้วก็ต้องพิพากษาให้เพิกถอนเสีย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 จำเลยขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 18712 พร้อมบ้าน 1 หลัง ไว้แก่โจทก์ กำหนดไถ่คืน 1 ปี ครั้นถึงกำหนดจำเลยไม่ได้ไถ่คืนและไม่ออกไปจากบ้านและที่ดินดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอาศัยในบ้านและที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยและบริวารย้ายชื่ออกจากสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทหากไม่ย้ายชื่อออกให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและบริวารให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากกันจริงแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมโจทก์จำนวน 70,000 บาท เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 สัญญาขายฝากดังกล่าวเกิดจากเจตนาลวงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18712 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ยอมไถ่การขายฝากให้แก่จำเลย ขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการไถ่การขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 18712 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การจดทะเบียนขายฝากระหว่างโจทก์และจำเลยกระทำไปตามความประสงค์ของทั้งสองฝ่ายจำเลยชำระเพียงดอกเบี้ยส่วนต้นเงินไม่เคยชำระจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่18712 และบ้านเลขที่ 26 ถนนเดชอุดม ซอยเดชอุดม 6 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,200บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทคำขออื่นให้ยก และยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน2531 จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 18712 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในราคา20,000 บาท มีกำหนดเวลา 1 ปี และในวันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ไว้เป็นจำนวนเงิน 70,000 บาท จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทที่ขายฝากตลอดมาจนพ้นกำหนดเวลาไถ่คืนคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของจำเลย นางพรรณี ออลมอน และนางเตือนใจ ภัทญาพันธ์พยานจำเลยว่า นางเตือนใจและนางพรรณีต้องการใช้เงิน นางพรรณีน้องสาวของจำเลยจึงขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากจำเลยเพื่อไปกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 70,000บาท โดยนางเตือนใจกู้ 30,000 บาท ส่วนนางพรรณีกู้ 40,000 บาท จำเลยยอมให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมโดยจดทะเบียนขายฝากไว้แก่โจทก์ มีกำหนด 1 ปี จำเลยได้รับเงิน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือ 50,000 บาท โจทก์ให้ไปรับที่บ้านของโจทก์ โจทก์บอกว่าภาษีแพงให้ขายฝากกันเพียง 20,000 บาท ก่อนรับเงินอีก 50,000 บาท โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกหนึ่งฉบับโดยระบุจำนวน70,000 บาท คิดดอกเบี้ย 3 เดือนแรก อัตราร้อยละ 3.5 ต่อเดือน ต่อจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อเดือน นางพรรณีเป็นผู้รับเงิน 50,000 บาท ไป นับแต่วันทำสัญญานางพรรณีได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วนเป็นเวลา 1 ปี จำเลยจะขอไถ่การขายฝากแต่โจทก์ผัดผ่อนเรื่อยมา เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะทำสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่โจทก์นางพรรณีและนางเตือนใจต้องการใช้เงินคนละ 40,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ นางพรรณีจึงไปขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากจำเลยเพื่อนำไปวางประกันเงินกู้ยืม จำเลยยินยอมให้นำโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมโดยจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ปรากฏตามสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.2 เหตุที่ทำเป็นสัญญาขายฝากน่าเชื่อว่าการนำโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมแต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นหลักประกันที่ดีแก่โจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญาขายฝากไว้ นางพรรณีเบิกความว่า โจทก์บอกว่าภาษีแพงให้ทำสัญญาขายฝากเพียง 20,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 50,000 บาท ให้ไปทำสัญญากู้ยืมเงินที่บ้านของโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่าหลังจากจดทะเบียนขายฝากแล้วในวันนั้นได้ให้จำเลยและนางพรรณีกู้ยืมเงินอีก 70,000 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 แม้จำนวนเงินจะแตกต่างจากที่นางพรรณีเบิกความแต่จำเลยก็เบิกความยืนยันว่า ก่อนที่จะรับเงินอีก 50,000 บาทโจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินระบุจำนวนเงิน 70,000 บาท แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้นมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากทั้งตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 ระบุว่าจำเลยนำโฉนดที่ดินที่จำเลยขายฝากไว้แก่โจทก์มาวางเป็นหลักประกัน การขายฝากนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝากการที่โจทก์ยอมรับเอาโฉนดที่ดินที่จำเลยขายฝากไว้แก่โจทก์เป็นหลักประกัน เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าที่ดินและบ้านพิพาทที่ขายฝากยังเป็นของจำเลยอยู่ จำเลยเพียงแต่นำมาวางไว้เป็นหลักประกันเท่านั้น หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินแล้วฝ่ายจำเลยได้นำดอกเบี้ยและต้นเงินไปชำระให้แก่โจทก์ตลอดมาจนถึงปี 2535 จึงหยุดชำระ พฤติการณ์เห็นได้ชัดว่าคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายฝาก รูปคดีมีเหตุผลเชื่อว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินตามข้อต่อสู้ของจำเลย สัญญาขายฝากที่ทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคหนึ่ง(มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่) ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสอง(มาตรา 155 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่) โดยถือว่าจำเลยได้มอบโฉนดที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น ทั้งจะต้องรับฟังว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ 70,000 บาท ดังที่ปรากฏไว้ตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินให้โจทก์ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 แล้วเป็นจำนวน93,480 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.8 แต่เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกู้ยืมเงินแล้ว จำเลยยังชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนจำเลยยังไม่มีสิทธิขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะดังกล่าวแล้วก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย”

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 18712 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 แต่ให้โจทก์ยังคงยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าจำเลยจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วน

Share