คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โอนหุ้นที่จองไว้ เมื่อบริษัทได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ผู้โอนต้องไปจัดการโอนให้ผู้รับโอนตามสัญญา

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้โจทก์ฟ้องและร้องเพิ่มเติมฟ้องกล่าวความว่าจำเลยได้เข้าชื่อซื้อหุ้นบริษัทน้อมมิตร จำกัด 200 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ต่อมาบริษัทน้อมมิตร จำกัด เรียกให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 5,000 บาท แต่จำเลยไม่มีเงินชำระจึงทำหนังสือลงวันที่ 2 สิงหาคม 2491ให้โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินชำระค่าหุ้นเหล่านั้น โดยจำเลยตกลงมอบสิทธิต่าง ๆ ในการที่จำเลยมีหนี้อยู่กับบริษัทน้อมมิตร จำกัด ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิงและจำเลยสัญญาจะจัดการโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามวันเวลาที่โจทก์กับจำเลยจะได้ทำการนัดหมายกันต่อไป ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ได้จ่ายเงินชำระค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 5,000 บาทแก่บริษัทน้อมมิตร จำกัด ไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิต่อและแทนจำเลยในอันที่จะได้รับสิทธิ หรือประโยชน์ใด ๆ ที่มีอยู่หรือได้รับมาจากบริษัทน้อมมิตร จำกัด ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นและโจทก์ก็มีสิทธิที่จะให้จำเลยโอนหุ้นให้แก่โจทก์ ต่อมาบริษัทน้อมมิตร จำกัดมีผลกำไรจึงจัดสรรเอาผลกำไรชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระอีก 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นหุ้นชำระเงินเต็มมูลค่าแล้วทุกหุ้นและยังมีกำไรแบ่งให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ คือในปี พ.ศ. 2494 หุ้นละ 15 บาท ปี พ.ศ. 2495 หุ้นละ 50 บาท และปี พ.ศ. 2496 หุ้นละ 100 บาท ซึ่งจำเลยรับเอาไปรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 33,000 บาทโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยกลับขอเอาไว้ใช้ก่อน โจทก์ขอให้จำเลยโอนหุ้นให้หลายครั้ง จำเลยเฉยเสียเวลานี้หุ้นมีราคาขายได้หุ้นละ 400 บาท เป็นเงิน 80,000 บาทจึงขอให้บังคับจำเลยโอนหุ้นบริษัทน้อมมิตร จำกัด หมายเลข 1666 ถึง 1865 รวม 200 หุ้นให้แก่โจทก์ ถ้าไม่โอนก็ให้ศาลสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และแจ้งให้บริษัทน้อมมิตร จำกัด จัดการโอนหุ้นให้แก่โจทก์ ถ้าโอนไม่ได้ด้วยประการใดขอให้จำเลยใช้เงินแทน 80,000 บาท กับให้จำเลยใช้เงินปันผลที่จำเลยรับไป 33,000 บาทด้วย

จำเลยให้การและร้องเพิ่มเติมคำให้การต่อสู้ว่าเดิมจำเลยจองหุ้นบริษัทน้อมมิตร จำกัดไว้ 300 หุ้น โจทก์ขอแบ่งเอา 100 หุ้นจำเลยก็ยอมให้ ต่อมาบริษัทน้อมมิตร จำกัด เรียกให้ชำระค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ โจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยไป 5,000 บาท จำเลยได้ทำหนังสือดังเอกสารท้ายฟ้องให้โจทก์ไว้ ทั้งนี้ หมายความว่าโจทก์ต้องรับผิดชอบที่จะชำระค่าหุ้นอีก 75 เปอร์เซ็นต์ที่ยังค้างนั้นด้วย หลังจากนั้น 2-3 เดือน โจทก์จำเลยพบกัน โจทก์ปฏิเสธไม่รับโอนหุ้นดังกล่าว เพราะคิดว่าบริษัทจะไม่มีกำไร เอกสารที่จำเลยทำไว้ให้ โจทก์ว่าหาย ส่วนเงิน 5,000 บาท นั้นโจทก์ให้จำเลยหาใช้ในภายหลัง จำเลยจึงคิดหนี้สินทั้งหมดที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่รวมทั้งจำนวนเงิน 5,000 บาท ค่าหุ้นนี้ด้วยทำเป็นบัญชีให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน และโจทก์พอใจตามเอกสารใหม่นี้แล้วอนึ่ง ค่าหุ้นอีก 75 เปอร์เซ็นต์ โจทก์ก็มิได้ชำระจำเลยจึงถือว่าจำเลยพ้นจากความรับผิดชอบตามข้อเสนอในเอกสารท้ายฟ้อง และมีสิทธิสมบูรณ์ในหุ้นเหล่านั้น เงินปันผลตามฟ้องทุกปีที่จำเลยรับมา โจทก์ก็ทราบแต่ไม่เคยโต้แย้งขัดขวางการที่จำเลยปฏิเสธไม่รับโอนหุ้นในเมื่อการเสนอนั้นยังมีภาระผูกพันจะต้องชำระค่าหุ้นต่อไปอีก ครั้นเมื่อหุ้นเต็มมูลค่าขึ้นโดยมิใช่การชำระของโจทก์ โจทก์กลับมาเรียกร้องเอาเสียทั้งหมดเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยควรต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องเพียงจำนวนเงิน 25 เปอร์เซ็นต์ที่โจทก์ออกแทนไปเท่านั้น

ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยได้ทำเอกสารหมายเลข 1ให้โจทก์ไว้จริง และพยานของฝ่ายจำเลยเชื่อไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกปัดไม่รับโอนหุ้นเหล่านั้นดังข้อต่อสู้ของจำเลย ส่วนเงินปันผล 33,000 บาท จำเลยรับจากบริษัทมาโดยโจทก์ทราบดีไม่ทักทวงห้ามปรามเห็นว่า โจทก์ยอมยกให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการเอาอกเอาใจเลี้ยงจำเลยไว้ใช้เกี่ยวกับการงานที่โจทก์ต้องหวังพึ่งจำเลยย่อมเรียกคืนไม่ได้ จึงพิพากษาให้จำเลยโอนหุ้นบริษัทน้อมมิตรจำกัด 200 หุ้น ตามใบหุ้นที่จำเลยส่งศาลไว้นั้นให้แก่โจทก์ถ้าหากไม่ยอมโอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลย และถ้าโอนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ก็ให้จำเลยใช้เงินแทนมูลค่าหุ้นเป็นเงิน 80,000 บาท คำขอเรื่องเงินปันผล 33,000 บาทให้ยกเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของทนายโจทก์ ทนายจำเลย และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงที่ไม่มีข้อโต้เถียงได้ความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นเพื่อนที่รักชอบกันมาก่อน จำเลยเคยมีส่วนช่วยเหลือในการก่อตั้งบริษัทน้อมมิตร จำกัด โดยช่วยเหลือในการหาป่าไม้ให้ เมื่อบริษัทน้อมมิตร จำกัดเปิดการจองหุ้น จำเลยก็ได้มาบอกให้โจทก์ทราบและพากันไปจองหุ้นด้วยกัน โดยจำเลยจอง 200 หุ้น โจทก์จอง 100 หุ้น ซึ่งมีมูลค่าหุ้นละ 100 บาทเท่ากัน ต่อมาบริษัทน้อมมิตรจำกัด เรียกให้ชำระเงินค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ แต่จำเลยไม่มีเงินชำระ จึงได้ให้โจทก์เป็นคนชำระเงิน 5,000 บาทนั้น โดยจำเลยทำเอกสารหมายเลข 1 ให้โจทก์ยึดถือไว้มีข้อความสำคัญว่า”ข้าพเจ้าได้จองหุ้นบริษัทน้อมมิตร จำกัด ไว้ 200 หุ้น มูลค่าหุ้นละ100 บาท บัดนี้บริษัทเรียกเงินค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ และคงจะเรียกต่อไปตามระเบียบ แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถจะหาเงินจ่ายค่าหุ้นเหล่านี้ได้ จึงได้ขอร้องให้นายพงษ์สวัสดิ์ (โจทก์)จ่ายเงินค่าหุ้นแก่บริษัท ในนามของข้าพเจ้า และ

(4) เพื่อเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้นายพงษ์สวัสดิ์ถือไว้เพื่อแสดงว่า ข้าพเจ้าได้มอบสิทธิต่าง ๆ ในการมีหุ้นกับบริษัทน้อมมิตร จำกัด ให้แก่นายพงษ์สวัสดิ์โดยสิ้นเชิง

(5) เพื่อให้สิทธิในหุ้นกับบริษัทน้อมมิตร จำกัด สมบูรณ์ข้าพเจ้าจะจัดการโอนหุ้นเหล่านี้ให้นายพงษ์สวัสดิ์ตามวันเวลาที่จะได้นัดหมายกันต่อไป ในขณะนี้ จึงได้ทำหนังสือสำคัญฉบับนี้ไว้ก่อน”

ครั้นถึงกำหนดนัด คือวันที่ 10 สิงหาคม 2491 โจทก์ได้จัดการชำระเงินค่าหุ้นรายนี้ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นเงิน 5,000 บาทแก่บริษัทน้อมมิตร จำกัด เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นบริษัทน้อมมิตร จำกัด ก็มิได้เรียกให้ชำระเงินค่าหุ้นอย่างใดอีกเพราะบริษัทมีกำไรเรื่อยมา แทนที่จะแบ่งเป็นเงินปันผล จึงจัดสรรเอาเงินกำไรเหล่านั้นชำระเป็นมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังคงค้างชำระอีก 75 เปอร์เซ็นต์นั้นเสร็จสิ้นไป เป็นอันว่าได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนเต็มจำนวนแล้วทุกหุ้นและบริษัทได้ออกใบหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วให้แก่บรรดาผู้จองหุ้นไป เฉพาะ 200 ร้อยหุ้นรายพิพาทนี้บริษัทออกให้ในนามของนายชาลี จำเลยตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2494 เป็นต้นมา ตามที่จำเลยมีชื่อเป็นผู้จองหุ้นไว้แต่เดิม เงินปันผลของบริษัทสำหรับ พ.ศ. 2494, 2495 และ 2496จำเลยได้รับจากบริษัทไปสิ้นแล้ว

จำเลยเคยทำบัญชีหนี้สินที่เกี่ยวค้างกันส่งไปให้โจทก์ 1 ฉบับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 32,150 บาท รวมทั้งเงิน 5,000 บาทที่โจทก์ชำระค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์รายนี้ด้วย โดยขอทำใบกู้ไว้ให้เป็นเงิน 33,000 บาท และเอาหุ้นบริษัทน้อมมิตรเป็นประกันเงิน (ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 2) แต่โจทก์มิได้ตอบประการใดในเรื่องนี้

ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยต่างนำสืบโต้เถียงกัน ก็คือ เรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้บอกปัดไม่รับโอนหุ้นรายนี้จากจำเลยแล้ว ซึ่งฝ่ายโจทก์ปฏิเสธ โดย

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าเมื่อจองหุ้นนั้น ได้เคยพูดตกลงกับโจทก์ไว้แล้วว่าถ้าบริษัทเรียกเงินค่าหุ้นก็ขอให้โจทก์ช่วยออกเงินแทนไปก่อน ดังนั้นเมื่อบริษัทเรียกเงินค่าหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์มา ครั้งแรกยังไม่มีเงิน ถูกเตือนซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ให้ชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2491 จึงได้ส่งเอกสารหมายเลข 1 มาให้โจทก์โดยคิดว่าแม้ตัวเองจะไม่ได้ซื้อหุ้นรายนี้ ก็ให้โจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนกัน ได้ซื้อไว้ยังดีกว่า แต่โจทก์ไม่ตอบประการใด และจำเลยไม่รู้ว่าโจทก์จัดการไปประการใด และโจทก์จะเอาหุ้นเหล่านั้นไว้จริงหรือไม่ ต่อมาอีก 2-3 เดือน จำเลยจึงมาที่จังหวัดลำปางเพื่อสอบถามโจทก์ให้แน่นอนถึงเรื่องนี้ บังเอิญพบโจทก์ที่ร้านมานะเจริญ ซึ่งเป็นร้านขายอาหาร และได้สอบถามโจทก์ถึงเรื่องหุ้นบริษัทน้อมมิตรว่ายังไงโจทก์ว่าไม่เอา บริษัททหารจะไปสักกี่น้ำถามถึงเรื่องเงิน 5,000 บาท จะว่ายังไง โจทก์ว่าไม่เป็นไรมีเมื่อไรก็เอามาใช้ก็แล้วกัน และเมื่อถามถึงเรื่องเอกสารหมายเลข 1 นั้น โจทก์ก็ว่าไม่สนใจจะไปอยู่ทางไหนก็ไม่รู้ จำเลยจึงถือว่าโจทก์ปฏิเสธไม่รับเอาหุ้นเหล่านี้แล้ว

ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า โจทก์จองไว้ในนามของตนเอง 100 หุ้นแล้วก็ยังต้องการอีก แต่จองเกินกว่านั้นไม่ได้ ผิดข้อบังคับของบริษัทเมื่อจำเลยไม่มีเงินชำระค่าหุ้น 200 หุ้น ของจำเลย และเต็มใจโอนให้โจทก์โจทก์จึงตกลงรับเอาไว้และได้ชำระเงินค่าหุ้นงวดแรก 25 เปอร์เซ็นต์ เสร็จสิ้นไปแล้วทั้งของตนเอง และของจำเลยเพราะโจทก์ต้องการมีหุ้นมาก ๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเป็นกรรมการในบริษัท โจทก์ไม่เคยปฏิเสธว่าไม่เอาหุ้นเหล่านี้ ไม่เคยพบปะกับจำเลยที่ร้านขายอาหาร เคยเตือนจำเลยให้โอนหุ้นให้หลายครั้งแต่จำเลยบิดพริ้วเสีย

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์หลักฐานและถ้อยคำพยานของทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่าจำเลยจองหุ้นของบริษัทน้อมมิตร จำกัด ไว้ถึง 200 หุ้นคิดเป็นมูลค่าเต็มหุ้น เป็นเงินถึง 20,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ยังไม่มีเงินพอ แม้แต่เพียง 5,000 บาทอันเป็นมูลค่า 25 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นเหล่านั้น คิดว่าจะหาเงินได้ทัน ก็หาเงินไม่ได้ จนกระทั้งบริษัทต้องเตือนให้ชำระเป็นครั้งที่ 2 ภายในกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม 2491 ดังนั้น หากไม่ได้ชำระให้จริงตามกำหนด หุ้นทั้ง 200 หุ้นนี้จำเลยก็หมดสิทธิไปแล้วโดยสิ้นเชิงไม่มีทางที่จะกล่าวอ้างเอากลับคืนมาได้ประการใดเลย จำเลยเองก็ให้การรับอยู่ว่า เมื่อตนเองไม่มีเงินจะส่งค่าหุ้นแก่บริษัทได้แล้ว ก็ให้โจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนกันซื้อไว้ยังดีกว่าจึงได้ส่งเอกสารหมายเลข 1 ไปให้แก่โจทก์เพื่อเมื่อโจทก์ต้องการก็จะได้ดำเนินการเรื่องเงินค่าหุ้นทั้งหมดต่อไปเองเป็นอันหมดภาระของจำเลยในเรื่องเงินค่าหุ้นนั้นแล้ว อีกทั้งเอกสารหมายเลข 1 ข้อ 4 ที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ ก็มีข้อความแจ้งชัดว่า”จำเลยยอมมอบสิทธิต่าง ๆ ในการมีหุ้นกับบริษัทน้อมมิตร จำกัดให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง” เพียงแต่ขณะนั้น บริษัทยังมิได้ออกใบหุ้นของบริษัทให้ไว้ จึงแสดงเจตนาไว้ต่อไปในข้อ 5 ว่า “เพื่อให้สิทธิในหุ้นกับบริษัทน้อมมิตร จำกัด สมบูรณ์ จำเลยจะจัดการโอนหุ้นเหล่านี้ให้โจทก์ตามวันเวลาที่จะได้นัดหมายกันต่อไป”เหตุผลเหล่านี้ประกอบกันแสดงเจตนาของจำเลยโดยแน่ชัดว่าจำเลยไม่ประสงค์ในหุ้น 200 หุ้นรายนี้แล้วโดยสิ้นเชิง เหลืออยู่แต่พิธีการโอนหุ้นให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งจำเลยจะได้จัดการโอนให้แก่โจทก์ในภายหน้า ตามวันเวลา ที่จะได้นัดหมายกันต่อไปก็เมื่อโจทก์ได้สนองรับครบถ้วนทุกประการตามที่จำเลยเสนอมานั้นแล้วโดยโจทก์ได้นำเงิน 5,000 บาท ไปชำระค่าหุ้นงวดแรก 25 เปอร์เซ็นต์เต็มตามที่บริษัทเรียกร้องมา จำเลยก็ต้องผูกพันตามข้อความในเอกสารหมายเลข 1 นั้นต่อไป ไม่เห็นมีเหตุผลอันใดที่จะกล่าวอ้างว่า เงิน 5,000 บาทนั้น เป็นแต่เพียงเงินยืมหรือเงินที่โจทก์ออกทดรองแทนจำเลยไปก่อนได้เลย การที่บริษัทน้อมมิตร จำกัด ออกใบหุ้นให้มาในชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นนั้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับจำเลยโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่าจำเลยเป็นคนลงชื่อจองหุ้นไว้ แต่สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องจัดการโอนหุ้นเหล่านั้นให้แก่โจทก์ต่อไปตามความในข้อ 5 ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ที่จำเลยพยายามนำสืบว่าโจทก์ได้บอกปัดไม่รับโอนหุ้นแล้ว จำเลยจึงหมดภาระผูกพันนั้นรับฟังไม่ได้เลย เพราะถ้อยคำพยานของจำเลยให้การแตกต่าง และขัดต่อเหตุผลด้วยประการทั้งปวง ดังที่ศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นกล่าวไว้โดยละเอียดชัดเจนแล้ว อนึ่งพิเคราะห์เหตุผลย้อนหลังไปถึงตอนที่บริษัทน้อมมิตร จำกัดเริ่มเปิดการจองหุ้นทีแรก จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิจองหุ้นได้ 300 หุ้น แต่จำเลยแบ่งให้โจทก์เสีย 100 หุ้น จำเลยจึงคงจองเพียง 200 เท่านั้น ข้อนี้ก็ไม่เป็นความจริงเสียแล้วเพราะจำเลยเป็นผู้เริ่มการช่วยเหลือในการก่อตั้งบริษัทก็จริงแต่จำเลยไม่ได้ลงเงินเลย สิทธิของจำเลยที่จะจองหุ้นได้ตามเอกสารหมายอักษร ก. คงเป็นไปตามข้อ 3 คือไม่เกิน 200 หุ้นเท่านั้นและพระยาอนุวัตรวนรักษ์ ผู้จัดการบริษัทน้อมมิตร จำกัด พยานจำเลยเองก็ให้การยืนยันว่าโจทก์เป็นทหารผ่านศึกเหมือนกัน มีสิทธิจองได้ 100 หุ้น และโจทก์ได้จองหุ้นตามสิทธิของโจทก์เอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พอจำเลยไปบอกเรื่องเปิดการจองหุ้นให้โจทก์ทราบโจทก์ก็ไปจองหุ้นด้วยทันทีและได้มาเพียง 100 หุ้น เต็มตามสิทธิของโจทก์ที่จะจองได้ในขณะนั้นแล้วแสดงว่าโจทก์ต้องการหุ้นในบริษัทน้อมมิตร จำกัด มาแล้วตั้งแต่ต้นและเมื่อจำเลยเสนอโอนสิทธิในหุ้นอีก 200 หุ้น ที่จำเลยจองไว้แต่ไม่มีเงินจะส่งบริษัทได้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์ก็สนองรับเอาและชำระเงิน 25 เปอร์เซ็นต์ ให้แก่บริษัทไปทันที พฤติการณ์เหล่านี้เห็นได้ชัดว่าโจทก์ต้องการหุ้นรายนี้อยู่มาก สมถ้อยคำ ของโจทก์ที่ให้การมา ดังนั้น ถ้อยคำพยานของฝ่ายจำเลยที่อ้างว่าพอจำเลยถามถึงเรื่องหุ้น โจทก์ก็บอกปัดทันทีว่า “ไม่เอา บริษัททหารจะไปสักกี่น้ำ” เช่นนั้น จึงไร้เหตุผลอันควรรับฟัง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่เชื่อตามข้อต่อสู้ของจำเลยนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้กลับหรือแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ให้ยกเสียโดยศาลฎีกาพิพากษายืน และให้จำเลยเสียค่าทนายความชั้นนี้เป็นเงิน 1,500 บาท แก่โจทก์

Share