คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 634/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาททำให้ภริยาโจทก์ตายนั้น ถือได้ว่าการที่ภริยาโจทก์ตายลงนั้นทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443,1453 เช่น ค่าจ้างคนปฏิบัติโจทก์แทนผู้ตายระหว่างที่โจทก์อยู่โรงพยาบาลและค่าขาดการปฏิบัติอุปการะของผู้ตายต่อโจทก์ตลอดกาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 98 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถโดยสารของบริษัทจำเลยที่ 2 โดยความประมาทเป็นเหตุให้รถคว่ำ ทำให้นางชื่นพิศภริยาโจทก์ตายและทำให้ ด.ญ.ทรงกลดบุตรโจทก์บาดเจ็บต้องรักษาประมาณ 1 เดือน โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายคือ การที่โจทก์ต้องสูญเสียภริยาไปนั้นคิดเป็นค่าเสียหาย 20,000 บาท ค่าจ้างผู้อื่นมาดูแลปฏิบัติโจทก์ระหว่างโจทก์ป่วยอยู่โรงพยาบาล ทั้งนี้เพราะโจทก์ขาดภริยาอันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ คิดเป็นเงิน 1,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล ด.ญ.ทรงกลด 2,000 บาท และค่าเสียสุขภาพอนามัยไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข 6,000 บาท ค่าทำบุญศพ 2,000 บาท ค่าทำศพ 14,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45,000 บาท

ส่งหมายเรียกจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า รถคว่ำโดยเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์จะเรียกร้องได้แต่เฉพาะค่าปลงศพเท่านั้น ข้อเรียกร้องของโจทก์เป็นการเรียกร้องที่นอกเหนือจากบทบัญญัติกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทำศพ 15,000 บาทค่าจ้างคนปฏิบัติโจทก์แทนผู้ตายระหว่างโจทก์อยู่โรงพยาบาล 1,000บาท ค่าขาดการปฏิบัติอุปการะของผู้ตายต่อโจทก์ตลอดกาล 20,000บาท ค่ายารักษาบาดเจ็บของ ด.ญ.ทรงกลด 1,300 บาท ค่าทดแทนเสียสุขภาพอนามัยของ ด.ญ.ทรงกลดในกาลต่อไปอีก 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น42,300 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าทำศพผู้ตาย เห็นสมควรกำหนดให้ 10,000 บาท นอกนั้นให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติว่า “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” และตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1453 บัญญัติว่า “สามีภริยาจำต้องอยู่กินกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน” จึงถือได้ว่าการที่นางชื่นพิศตายลงทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ที่ศาลล่างให้ค่าจ้างคนปฏิบัติโจทก์แทนผู้ตายระหว่างที่โจทก์อยู่โรงพยาบาล และค่าขาดการปฏิบัติอุปการะของผู้ตายต่อโจทก์ตลอดกาลนั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share