แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535คงมีเพียงมาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติอื่นใดห้ามการตกลงกำหนดเงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยและจำเลยผู้เอาประกันภัยในกรณีอื่น ๆ ไว้อีก
ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 16 ที่ระบุว่า โจทก์จะไม่ยกเอาข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์เป็นข้อต่อสู้ผู้ประสบภัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์นั้น ไม่เป็นการแตกต่างขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 15 จึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 15.10 โดยยินยอมให้ส. ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นผู้ขับรถในขณะเกิดเหตุ และตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดในฐานผิดสัญญาประกันภัยมิใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 31 อีก โจทก์ซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 40,000 บาทให้แก่ บ. ไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 16
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3880 สกลนคร ไว้กับโจทก์ เริ่มต้นวันที่ 4 กันยายน 2538ถึงวันที่ 4 กันยายน 2539 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 เวลา 17.30นาฬิกา นายสมบัติ ไม่ทราบนามสกุล ลูกจ้างจำเลยขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวมาตามถนนสกลนคร – นาแกมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอนาแก แล้วได้ขับรถแซงรถคันหน้าล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวนด้วยความประมาท ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า สีแดง ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนที่แล่นสวนทาง ซึ่งมีนายเชิญ อินตัน ผู้ตายเป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยตรวจสอบพบว่าขณะเกิดเหตุนายสมบัติผู้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขับรถยนต์ ซึ่งตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถข้อ 15.10 โจทก์ไม่ต้องรับผิด แต่ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถข้อ 16 โจทก์จะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ประสบภัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ โจทก์จึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางบุญโฮม อินตัน มารดาของผู้ตายเป็นเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัย ในกรณีดังกล่าวจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้จำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้โจทก์ทันที ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 43,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยแล้วโจทก์จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถซึ่งมิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ได้ แต่โจทก์จะต้องไปไล่เบี้ยแก่นายสมบัติผู้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าว ข้อยกเว้นความรับผิดของโจทก์ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 43,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้คิดจากต้นเงิน 40,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3880 สกลนคร จากจำเลยผู้เอาประกันภัย เริ่มต้นวันที่ 4 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2539ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 มีข้อตกลงในข้อ 15 ว่า ข้อยกเว้นการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 15.10 การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถในเวลาเกิดอุบัติเหตุ และในข้อ 16 ว่า ข้อสัญญาพิเศษ ภายใต้จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ เว้นแต่ข้อ 15.1-15.6 เป็นข้อต่อสู้ผู้ประสบภัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์นี้ เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วแต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัย เพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539นายสมบัติไม่ทราบนามสกุล ลูกจ้างของจำเลยซึ่งไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขับรถยนต์ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า สีแดง ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนที่นายเชิญ อินตัน เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้นายเชิญถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 40,000 บาท ให้แก่นางบุญโฮม อินตันมารดาของนายเชิญ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 คงมีเพียงมาตรา 15 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ว่า “กรมธรรม์ประกันภัย… ซึ่งมีข้อความระบุถึงความรับผิดของบริษัทแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ บริษัทจะยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ประสบภัยในการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นมิได้” เท่านั้น มิได้มีบทบัญญัติอื่นใดห้ามการตกลงกำหนดเงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยและจำเลยผู้เอาประกันภัยในกรณีอื่น ๆ ไว้แต่ประการใด ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 16 ข้อสัญญาพิเศษก็ระบุว่า โจทก์จะไม่ยกเอาข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์เป็นข้อต่อสู้ผู้ประสบภัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์อันไม่เป็นการแตกต่างขัดกันกับบทบัญญัติมาตรา 15 ดังกล่าว เงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 15.10 จึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 15.10 ดังกล่าวโดยยินยอมให้นายสมบัติซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นผู้ขับรถในขณะเกิดเหตุและตามคำฟ้องของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดในฐานผิดสัญญาประกันภัย มิใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังที่จำเลยฎีกาอีกเช่นกัน โจทก์ซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 40,000 บาท ให้แก่นางบุญโฮมไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 16″
พิพากษายืน