แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งที่พิพาทมีข้อความและรายละเอียดเช่นสัญญาเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่าและไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่าแม้จะมีข้อตกลงที่ให้ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่า หากผู้เช่าประสงค์จะซื้อในอนาคตโดยเสนอราคาจะขายไว้ล่วงหน้า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งที่พิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 537
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ลักษณะแห่งตราสาร 1 กำหนดให้สัญญาเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพเท่านั้นที่ต้องปิดอากรแสตมป์ สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งที่พิพาทเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118
สัญญาค้ำประกันพิพาทเป็นการค้ำประกันสำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรฯ ลักษณะแห่งตราสาร 17(ก) โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 เป็นผลให้โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการค้ำประกันเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2และที่ 3 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน235,844 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7พฤศจิกายน 2538 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ 1 ร้องขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากผู้ขายเพื่อนำมาให้เช่าแบบลิสซิ่งแก่จำเลยที่ 1มีระยะเวลาการเช่า 48 เดือน ค่าเช่าอัตราเดือนละ 9,150 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อรถยนต์คันพิพาทได้ในราคา 35,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์มิใช่สัญญาเช่าซื้อ สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7ซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้นั้นเห็นว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6 มีข้อความและรายละเอียดเช่นสัญญาเช่าทรัพย์คือ ข้อ 1. ว่าด้วยทรัพย์สินที่เช่าข้อ 2. ระยะเวลาการเช่า ข้อ 3. ค่าเช่าที่ผู้เช่าตกลงจะชำระเป็นรายเดือนข้อ 6. หน้าที่ของผู้เช่า เช่น ผู้เช่าตกลงจะไม่ให้เช่าช่วง เป็นต้น ข้อ 7. ถึงข้อ 9. การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา และการยกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่าซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ถึงมาตรา 571ในสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่า แม้จะมีข้อตกลงตามสัญญาข้อ 3.2 ที่ให้ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่า ก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าหากผู้เช่าประสงค์จะซื้อในอนาคตโดยเสนอราคาจะขายไว้ล่วงหน้า ส่วนที่มีข้อตกลงด้วยว่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ซื้อทรัพย์สินที่เช่า และผู้ให้เช่าได้ขายทรัพย์สินที่เช่าในราคาต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ผู้เช่าต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินจำนวนเท่ากับผลต่างระหว่างราคาขายสุทธิกับราคาที่กำหนดไว้ ก็เป็นเพียงข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมิใช่เรื่องที่คู่สัญญามีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อ สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 และตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ลักษณะแห่งตราสาร 1 กำหนดให้สัญญาเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ เท่านั้น ที่ต้องปิดอากรแสตมป์สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.6เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นการค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นการค้ำประกันสำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ลักษณะแห่งตราสาร 17.(ก) โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานโดยอ้างว่าเป็นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 มิได้ปิดอากรแสตมป์จึงไม่อาจใช้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เป็นผลให้โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการค้ำประกันเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2และที่ 3 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงมาเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้ก็ตาม แต่เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์