คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เอาเรือที่จำเลยจ้างซ่อมขึ้นคาน เมื่อซ่อมเสร็จก็เอาลงจากคานจอดไว้ในแม่น้ำเจ้าพระยา คอยอยู่เป็นเวลานานจำเลยก็ไม่มาชำระค่าซ่อมและรับเรือ คนของจำเลยก็ไม่มีเฝ้า เมื่อเรือจะจม โจทก์จึงเอาขึ้นนอนคานไว้ในอู่อีก ดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าคานเรือให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เป็นเจ้าของและผู้จัดการอู่เรือสหประมง เมื่อเดือนมกราคม 2502 จำเลยทั้งสองตกลงจ้างโจทก์ซ่อมแซมเรือยนต์เดินทะเลชื่อแดงพิชัย โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายรวมทั้งสัมภาระ ค่าแรงงาน ซ่อมเสร็จแล้วจึงจะคิดราคากัน โจทก์นำเรือขึ้นนอนคานทำการซ่อม 13 มกราคม เสร็จแล้วนำเรือลงจากคานลอยลำอยู่หน้าอู่ของโจทก์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2502 แต่จำเลยทั้งสองไม่มาติดต่อคิดเงินและชำระเงินให้โจทก์ หลบหน้าหายไป วันที่ 1 พฤศจิกายน 2502 เรือจะจม โจทก์จึงต้องเอาขึ้นคานไว้ ติดต่อจำเลยอีกก็เพิกเฉย จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าซ่อมเรือ 10,613 บาท 50 สตางค์ และค่าเรือนอนคานเป็นเงิน 8,040 บาท และแต่วันฟ้องวันละ 15 บาท จนกว่าจำเลยจะรับเรือไป

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เป็นเจ้าของเรือ ไม่เคยจ้างโจทก์ซ่อมเรือ ค่าซ่อมเรือสูงเกินไป จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าเรือนอนคานการเอาเรือขึ้นนอนคานนั้น โจทก์จัดการไปฝ่ายเดียว จำเลยไม่รู้เห็นด้วย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าซ่อมเรือ10,613.50 บาท และค่าเรือนอนคาน 8,040 บาทถึงวันฟ้อง และต่อไปอีกวันละ 15 บาท จนกว่าจำเลยจะรับเรือไป

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์มั่นคงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้นำเรือไปว่าจ้างให้โจทก์ทำการซ่อมจริง จำเลยที่ 1 หาใช่เป็นตัวแทนนำเรือไปซ่อมดังฎีกาไม่ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ไม่ควรต้องรับผิดค่าเรือนอนคานตอนที่เรือจะจม เพราะโจทก์ทำไปเองตามลำพังโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยก่อน ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำการซ่อมเรือแดงพิชัยเสร็จ และเอาลงจากคานมาจอดไว้ในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลานาน เพื่อคอยให้จำเลยมาชำระเงินค่าซ่อมเรือและรับเรือไปทั้งไม่มีคนเฝ้าเรือของจำเลยในระยะนั้น เมื่อเรือจะจมโจทก์จำต้องเอาขึ้นคานไว้ ก็เป็นการที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในการที่โจทก์กระทำไปดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share