คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335นั้นหากน้องกระทำต่อพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน ก็เป็นความผิดอันยอมความได้เมื่อพี่ถอนคำร้องทุกข์คดีก็ย่อมระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางอุดม อั้นวงษ์ ผู้เสียหายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2504 เวลากลางวันจำเลยบังอาจเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยและลักเอาวิทยุทรานซิสเตอร์ราคา 1,000 บาท ของนางอุดมไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335

จำเลยรับสารภาพ

นางอุดมผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า เป็นพี่สาวจำเลยร่วมบิดามารดาเดียวกัน ไม่ประสงค์ดำเนินคดีเอาโทษแก่จำเลย ขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีนี้เสีย เพราะได้ทรัพย์คืนและจำเลยสำนึกผิดแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335จำคุก 8 เดือน ลดกึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ว่า ความผิดตามมาตรา 335 นั้น พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกระทำต่อกันเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 71 ผู้เสียหายได้ประนีประนอมยอมความไม่เอาโทษจำเลยแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดเรื่องนี้ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ยอมความไม่ประสงค์ดำเนินคดีเอาโทษแก่จำเลยแล้วสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 บัญญัติไว้เป็นพิเศษนอกเหนือจากความผิดอันยอมความได้โดยทั่ว ๆ ไป เพราะมิได้บัญญัติไว้ในหมวดความผิดนั้น ๆ หรือมาตรานั้น ๆ โดยเฉพาะทั้งยังมีข้อความตอนท้ายของวรรค 2 ว่า “และนอกจากนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”ย่อมประกอบให้เห็นว่าแม้กฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดยอมความได้ก็ตาม ศาลก็ยังมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ โดยให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยตามความหนักเบาแห่งข้อหา หาใช่ว่าเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้วคดีระงับไปไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดอันยอมความได้นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ไม่ว่าจะบัญญัติความผิดเช่นไรให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ย่อมเหมือนกันหมดที่โจทก์ฎีกาว่าความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 71 แม้ยอมความกันแล้วศาลยังพิพากษาลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า ถ้าแปลกฎหมายอย่างโจทก์ฎีกาจะขัดกันเองอย่างเห็นได้ชัดเพราะความผิดฐานฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิดอันยอมความกันได้เมื่อถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ เหตุใดเมื่อเอามาบัญญัติไว้ในมาตรา 71 ด้วย จึงจะกลับพิพากษาลงโทษจำเลยได้อีก ทั้ง ๆ ที่ผู้กระทำผิดมีความสัมพันธ์ในทางครอบครัวสนิทกว่าคนอื่น เหตุที่กฎหมายบัญญัติเพิ่มเติมว่า”และนอกจากนั้นศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” หาใช่ทำให้ความผิดอันยอมความกันได้กลายเป็นยอมความไม่ได้ดังโจทก์ฎีกาไม่ หมายความว่าเมื่อไม่มีการยอมความกัน ศาลจะลงโทษผู้กระทำผิดซึ่งมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวสนิทกว่าให้น้อยกว่าคนธรรมดาลงไปอีกก็ได้เพราะนอกจากลักษณะคดีที่เป็นความผิดอันยอมความกันได้เหมือนกันแล้วยังมีความสัมพันธ์อันเป็นเหตุส่วนตัวอีกชั้นหนึ่ง ไฉนจึงจะแปลให้เป็นโทษยิ่งขึ้นกว่าคนอื่นกระทำผิด เหตุผลของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share