แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลไว้โดยสุจริตถึงแม้จะยังไม่ได้ทำนิติกรรมโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิและมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินนั้นให้ออกไปได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เป็นบทกฎหมายกำหนดเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาลไว้เป็นกรณีพิเศษไม่อยู่ในข่ายของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปดังที่ได้บัญญัติเรื่องแบบนิติกรรมไว้ตามมาตรา 456
ผู้ครอบครองที่ดินจะรู้หรือไม่ว่ามีการขายทอดตลาดก็หาเป็นเหตุที่จะยกขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่สวน 1 แปลง โดยซื้อมาในการขายทอดตลาดของศาลราคา 8,000 บาท ซึ่งศาลได้โอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยซึ่งได้อาศัยอยู่ในที่ดินนั้นไม่ยอมออกไป ขอให้ขับไล่
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้อง เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่ จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนั้น ผู้ซื้อย่อมได้สิทธิแล้ว ส่วนการทำนิติกรรมโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นเป็นพิธีการอย่างหนึ่งเท่านั้น หาทำให้การซื้อขายทอดตลาดทรัพย์นั้นตกเป็นโมฆะไม่ และมาตรา 1330 เป็นบทกฎหมายกำหนดเรื่องการขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งศาลไว้เป็นกรณีพิเศษไม่อยู่ในข่ายของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปดังที่ได้บัญญัติเรื่องแบบนิติกรรมไว้ตามมาตรา 456 ฉะนั้น การซื้อทรัพย์พิพาทของโจทก์ในคดีนี้โดยการขายทอดตลาดของศาล แม้จะยังไม่ได้ทำนิติกรรมซื้อขายหรือจดทะเบียนสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ย่อมถือสิทธิมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองอยู่ย่อมเป็นสิทธิแก่จำเลยนั้น ก็เห็นว่า ในกรณียึดทรัพย์ขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนี้ ผู้ครอบครองที่ดินจะรู้หรือไม่ว่ามีการขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุที่จะยกขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ซื้อที่ดินในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ไม่ เมื่อไม่คัดค้านแต่ต้นปล่อยให้ขายทอดตลาดไปแล้ว ก็ไม่มีทางจะเอากลับคืนได้อีก พิพากษายืนยกฎีกาจำเลย