แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปส่งที่ท่าเรือในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าทางทะเลจากในราชอาณาจักรไปนอกราชอาณาจักร ต้องนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับตามมาตรา 4 ทั้งมาตรา 12 ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อผู้ขนส่งได้รับของไว้ในความดูแลแล้ว ถ้าผู้ส่งของเรียกเอาใบตราส่งผู้ขนส่งต้องออกให้ข้อพิพาทที่ว่าจำเลยไม่ยอมส่งมอบใบตราส่งหรือโจทก์ไม่ยอมมารับใบตราส่งจากจำเลย จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของว่าผู้ใดเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ดังกล่าว
โจทก์ว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้าของโจทก์จากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยส่งมอบสินค้าให้แล้วแต่จำเลยไม่ยอมมอบใบตราส่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถรับสินค้าหรือโอนสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ ต้องเสียค่าเก็บของในคลังสินค้าจนต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ค่าเก็บของในคลังสินค้า เป็นกรณีที่โจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง ส่วนการนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วหรือไม่ หรือขายแล้วได้เงินเท่าใดเป็นรายละเอียดที่จะนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ แต่ความเสียหายของโจทก์ได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะมีการนำสินค้าของโจทก์ไปขายหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2540 ถึงเดือนเมษายน 2540 จำเลยทั้งสองร่วมกันรับขนของของโจทก์ไปให้ลูกค้าโจทก์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทางเรือ แต่ไม่ยอมออกใบตราส่งให้โจทก์ เนื่องจากไม่พอใจที่โจทก์ไม่ชำระค่าขนส่งรายอื่นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่สามารถรับหรือโอนสินค้าให้แก่ลูกค้าต้องเสียค่าเก็บของในคลังสินค้าที่เมืองท่าปลายทางสูงเกินกว่าราคาสินค้า ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกานำสินค้าออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ค่าเก็บของในคลังสินค้าขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาสินค้าให้โจทก์เป็นเงินจำนวน1,488,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่รับมอบสินค้าไปจากโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องโจทก์คำนวณได้เป็นเงินจำนวน 55,900 บาท
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ตกลงรับขนของให้โจทก์แล้ว ได้ออกใบกำกับสินค้าและใบตราส่ง โดยมอบสำเนาให้โจทก์ไว้ เมื่อสินค้าถึงท่าปลายทาง จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์และลูกค้าของโจทก์ทราบแล้ว กับแจ้งให้โจทก์ไปรับต้นฉบับใบกำกับสินค้าและใบตราส่งพร้อมกับชำระค่าบริการ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงต้องฝากเก็บสินค้าไว้ในคลังสินค้า โดยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า หากไม่รีบรับสินค้าจะต้องชำระค่าฝากสินค้าและค่าเช่าตู้เพิ่มทุกวัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลแพ่งธนบุรีให้ชำระค่าขนส่งรายอื่น โจทก์จึงได้มาฟ้องเป็นคดีนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังไม่ได้นำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดและโจทก์ได้บอกขายสินค้าดังกล่าวให้บุคคลอื่นแล้ว ค่าเสียหายจึงยังไม่แน่นอนขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระค่าระวางสินค้าและค่าบริการขนส่งสินค้าคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 2,602.42 บาท (ที่ถูก 2,602.24 บาท)พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่เรือเทียบท่าจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าระวางสินค้าและค่าบริการขนส่งสินค้าตามฟ้องแย้ง เพราะจำเลยทั้งสองไม่ออกใบขนสินค้าให้โจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับหรือโอนสินค้าต่อไปได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,488,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ชำระค่าบริการในการจัดส่งสินค้าแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 2,602.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1ไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งเสื้อผ้ามูลค่า 41,360ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 1,488,960 บาท โดยทางเรือจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซี่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 คิดค่าบริการในการจัดส่งสินค้าเป็นเงิน 2,602.24 บาท โดยโจทก์นำกล่องบรรจุเสื้อผ้าไปส่งแก่จำเลยที่ 1 เพื่อบรรจุเข้าตู้สินค้าและบรรทุกบนเรือเพื่อขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 เรือออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2540 และไปถึงท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซี่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 แต่ไม่มีผู้ไปรับสินค้าดังกล่าวเจ้าของเรือจึงนำสินค้าของโจทก์ไปฝากไว้ที่คลังสินค้าตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน2540 จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 เจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศสหรัฐอเมริกาจึงประกาศจะนำสินค้าดังกล่าวออกขายทอดตลาดในวันที่ 8 มกราคม 2541ตามคำสั่งให้ย้ายสินค้าไปขายทอดตลาดเอกสารหมาย ล.13 และคำแปลเอกสารหมาย ล.14 เนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่มีผู้มารับไป ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ซื้อสินค้าไม่มีใบตราส่งสินค้ารายนี้ ใบตราส่งนี้ยังอยู่กับจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย ล.1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า การนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่คดีนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ยอมออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ผู้ส่งของ แต่เป็นกรณีที่มีการออกใบตราส่งแล้ว และโต้เถียงกันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบใบตราให้แก่โจทก์ หรือเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ยอมมารับใบตราส่งจากจำเลยที่ 1 จึงไม่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดจากการที่โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1ให้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่ท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรซึ่งต้องนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้มาใช้บังคับ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ส่งของและผู้ขนส่งไว้ โดยเฉพาะมาตรา 12 ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อผู้ขนส่งได้รับของไว้ในความดูแลแล้ว ถ้าผู้ส่งของเรียกเอาใบตราส่งผู้ขนส่งต้องออกให้ข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบใบตราส่ง หรือโจทก์ไม่ยอมมารับใบตราส่งจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของว่าผู้ใดเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ยอมส่งมอบใบตราส่งให้แก่โจทก์ผู้ส่งของ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วหรือไม่ และได้เงินจำนวนเท่าใด จึงยังไม่แน่นอนว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าของโจทก์ทางเรือจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1แล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมมอบใบตราส่งให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่สามารถรับสินค้าหรือโอนสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ ต้องเสียค่าเก็บของในคลังสินค้า จนต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ค่าเก็บของในคลังสินค้านั้น เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งและเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลได้ ส่วนการนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วหรือไม่ หรือขายแล้วได้เงินเท่าใด เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดที่จะนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ แต่ความเสียหายของโจทก์ได้เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะมีการนำสินค้าของโจทก์ไปขายหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน