คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7251/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ ช. ผู้จัดการของโจทก์อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่เป็นการแจ้งความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในเหตุนั้นบ้างเพื่อหาผู้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วรายงานตามลำดับชั้นบังคับบัญชาให้ผู้แทนของโจทก์คือ ผู้ว่าการสั่งการ ทั้งในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็ไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องรับผิดด้วยแต่อย่างใดจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ถึงการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 1ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ ช. ไปแจ้งความ
สายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ที่พาดผ่านถนนบริเวณที่เกิดเหตุสูงกว่าพื้นถนนเพียงไม่เกิน 5.18 เมตร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ว่าสายโทรศัพท์จะต้องอยู่สูงจากระดับผิวการจราจรช่วงที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านได้ไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคอยดูแลเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสายโทรศัพท์บริเวณที่เกิดเหตุจนทำให้สายโทรศัพท์อยู่สูงจากระดับผิวจราจรเพียงไม่เกิน 5.18 เมตรเป็นเหตุให้รถพ่วงบรรทุกถังเกี่ยวสายโทรศัพท์ที่พาดผ่านดังกล่าวดึงเสาไฟฟ้าของโจทก์หัก 8 ต้น และอุปกรณ์เสียหาย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเป็นเงิน 70,000 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้เสียหายอีกรายหนึ่งไปเป็นเงิน 6,925 บาท แต่จำเลยที่ 4 ให้การเพียงว่าความรับผิดของจำเลยที่ 4 มีจำนวนจำกัดในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท เท่านั้น มิได้ให้การถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนอื่นแต่อย่างใด ทั้งที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วก่อนยื่นคำให้การ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 4 นำสืบถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวล้วนแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลล่างต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 793,385 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อเวลาใดโจทก์และจำเลยที่ 1 แสดงเครื่องหมายจราจรแจ้งความสูงที่รถยนต์สามารถแล่นผ่านไปได้หรือไม่ ส่วนที่เกี่ยวสายโทรศัพท์เป็นส่วนใดของรถคันใดและวัสดุของโจทก์ได้รับความเสียหายมีรายการอะไรบ้าง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์และจำเลยที่ 1เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่พาดสายโทรศัพท์สูงกว่าระดับผิวจราจรที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร อีกทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่แสดงเครื่องหมายความสูงของสายโทรศัพท์ จำเลยที่ 3 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนและในขณะเกิดเหตุมิได้กระทำการไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดจำเลยที่ 4 ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ลากจูงดังกล่าวในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และเหตุเกิดในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยส่วนรถพ่วงดังกล่าวจำเลยที่ 4 ไม่ได้รับประกันภัยค้ำจุน เสาไฟฟ้าและวัสดุของโจทก์สภาพเก่าและชำรุด ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 634,708 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 พาดสายโทรศัพท์บนเสาไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 14 เมตร ของโจทก์ ซึ่งปักตามไหล่ถนนบริเวณที่เกิดเหตุทางแยกต่างระดับถนนบางปะอิน-บางบัวทอง ตัดกับถนนปทุมธานี-บางเลน ตำบลคูบางหลวงอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยสายโทรศัพท์จะต้องอยู่สูงจากระดับผิวจราจรช่วงที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านไม่น้อยกว่า5.50 เมตร ตามสำเนาข้อตกลง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในฐานะผู้ทำละเมิดหรือรับผิดในฐานะปฏิบัติผิดข้อตกลง จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างแห่งข้อหา เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 พาดสายโทรศัพท์บนเสาไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กของโจทก์ ซึ่งปักตามไหล่ถนนบางปะอิน-บางบัวทองตัดกับถนนปทุมธานี-บางเลน หากพาดสายโทรศัพท์ผ่านถนนที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านต้องสูงกว่าระดับผิวจราจรไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ก่อนเกิดเหตุโจทก์ตรวจพบว่าสายโทรศัพท์มีความสูงไม่ได้มาตรฐานตามที่ตกลงกับโจทก์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อทำการแก้ไข แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย จนตามวันเวลาเกิดเหตุรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับแล่นเกี่ยวสายโทรศัพท์และสายเคเบิลโทรศัพท์ เป็นเหตุให้แรงดึงของสายโทรศัพท์และสายเคเบิลโทรศัพท์ดึงเสาไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด14 เมตร หัก 8 ต้น พร้อมอุปกรณ์ที่ติดตั้งได้รับความเสียหาย เช่นนี้ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว แม้ไม่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะใด แต่จำเลยที่ 1 ก็เข้าใจสภาพแห่งข้อหา มิได้เสียเปรียบ โดยต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องอ้างเหตุขาดอายุความเรื่องละเมิดขึ้นต่อสู้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ นางสาววรวัลลภ์ จิรัฏฐิติกาล นิติกรของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2539 ได้ทำบันทึกรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุคดีนี้เพื่อขออนุมัติดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกที่เกี่ยวข้องเสนอต่อนายดำรง ดำริห์อนันต์รองผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งทำการแทนผู้ว่าการของโจทก์ ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.24 ซึ่งนายดำรงได้รับทราบและลงลายมือชื่ออนุมัติให้ดำเนินคดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกที่เกี่ยวข้อง โดยมีจำเลยที่ 1 อยู่ในข่ายที่อาจต้องถูกดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายดังกล่าวด้วยดังนี้ แม้หากจะฟังว่าโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้จะพึงต้องร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 9 ตุลาคม 2539 นั้นเองเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 13 มีนาคม 2540 ก็ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายชวัช ทองพฤกษ์ ผู้จัดการของโจทก์อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 พฤศจิกายน2538 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.11 ถือว่าโจทก์ต้องรู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวนั้น เห็นว่า นายชวัชมีหน้าที่ดูแลในเขตสำนักงานของโจทก์ที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น แม้จะได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็ตาม แต่เป็นการแจ้งความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในเหตุนั้นบ้างเพื่อหาผู้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วรายงานตามลำดับชั้นบังคับบัญชาให้ผู้แทนของโจทก์ คือ ผู้ว่าการสั่งการ ทั้งในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องรับผิดด้วยแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ถึงการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 1ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่นายชวัชไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สามมีว่า เหตุละเมิดครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีนายชวัช ทองพฤกษ์ นายธนโชค ชนินทยุทธวงศ์ และนายพันธ์ศักดิ์ คล้ายแก้วพนักงานของโจทก์ เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 6พฤศจิกายน 2538 สายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าของโจทก์พาดผ่านถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีความสูงไม่ได้มาตรฐานตามข้อตกลงเป็นเหตุให้ติดหลังคารถยนต์จนไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ จึงแจ้งให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ต่อมาในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงบรรทุกถังแล่นผ่านบริเวณที่เกิดเหตุเกี่ยวสายโทรศัพท์เป็นเหตุให้ดึงเสาไฟฟ้าของโจทก์หัก 8 ต้น และอุปกรณ์เสียหายตามรายการประเมินความเสียหายแผนที่เกิดเหตุ โดยพันตำรวจตรีสมบัติ สระแก้ว พนักงานสอบสวนซึ่งไปตรวจที่เกิดเหตุเบิกความเป็นพยานโจทก์สนับสนุนว่า ในที่เกิดเหตุพบรถพ่วงบรรทุกถังสูง ส่วนของถังเกี่ยวสายโทรศัพท์ เมื่อวัดความสูงของถังจากพื้นถนนไปถึงส่วนสูงสุดของถังได้ 5.18 เมตรส่วนจำเลยที่ 1 มีนายธีระ ดีสวัสดิ์ พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า สายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 พาดผ่านถนนบริเวณที่เกิดเหตุสูงได้ระดับมาตรฐาน ทั้งมีลักษณะเป็นสีดำสามารถมองเห็นได้ในระยะไกลถนนบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ระหว่างการก่อสร้างและก่อนเกิดเหตุไม่ได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสายโทรศัพท์บริเวณนั้นต่ำกว่ามาตรฐาน เห็นว่า พันตำรวจตรีสมบัติพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานคนกลางเบิกความยืนยันว่าจากพื้นถนนถึงส่วนสูงสุดของถังที่เกี่ยวสายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 มีความสูง 5.18เมตร คำเบิกความของพันตำรวจตรีสมบัติมีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ที่พาดผ่านถนนบริเวณที่เกิดเหตุสูงกว่าพื้นถนนเพียงไม่เกิน 5.18 เมตร เท่านั้น อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ว่า สายโทรศัพท์จะต้องอยู่สูงจากระดับผิวจราจรช่วงที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านได้ไม่น้อยกว่า 5.50 เมตรซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคอยดูแลเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสายโทรศัพท์บริเวณที่เกิดเหตุจนทำให้สายโทรศัพท์อยู่สูงจากระดับผิวจราจรเพียงไม่เกิน 5.18 เมตร เป็นเหตุให้รถพ่วงบรรทุกถังเกี่ยวสายโทรศัพท์ที่พาดผ่านดังกล่าวดึงเสาไฟฟ้าของโจทก์หัก 8 ต้น และอุปกรณ์เสียหาย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุละเมิดครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย

สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีว่า การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 และบุคคลผู้ต้องเสียหายรายอื่นแล้วต้องหักจำนวนเงินที่ได้ใช้ไปแล้วออกจากวงเงินความรับผิดของจำเลยที่ 4ตามกรมธรรม์ประกันภัยเหลือความรับผิดเพียง 159,275 บาทหรือไม่ ปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 เป็นเงิน 70,000 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ให้แก่บุคคลผู้ต้องเสียหายอีกรายหนึ่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 เป็นเงิน 6,925 บาท แต่เมื่อจำเลยที่ 4ให้การเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2540 จำเลยที่ 4 ให้การไว้ในข้อ 4 เพียงว่า”…ความรับผิดของจำเลยที่ 4 มีจำนวนจำกัดในวงเงินไม่เกิน 250,000บาท เท่านั้น…” จำเลยที่ 4 มิได้ให้การถึงว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 70,000 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ของบุคคลผู้ต้องเสียหายรายอื่นที่ได้รับความเสียหายเพราะการทำละเมิดครั้งนี้เป็นเงิน 6,925บาท แต่อย่างใด ทั้งที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไปแล้วก่อนยื่นคำให้การ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 4 นำสืบถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 และบุคคลผู้ต้องเสียหายอีก 1 รายดังกล่าวล้วนแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 4 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 ในส่วนนี้ ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่บุคคลผู้ต้องเสียหายอีกรายหนึ่งเป็นเงิน 13,800 บาท โดยจำเลยที่ 4 มีร้อยตรีอภิชาติ บุญมาก ซึ่งเคยเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินคดีนี้แทน เป็นพยานเบิกความประกอบใบสั่งซ่อมรถคู่กรณีตามเอกสารหมาย ล.9 ว่า จำเลยที่ 4 จ่ายค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ-0747กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 13,800 บาท เท่านั้น โดยไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมรถยนต์รายนี้มาเบิกความประกอบเพื่อยืนยันว่ามีการจ่ายค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวจริงและใบสั่งซ่อมรถคู่กรณีตามเอกสารหมาย ล.9ก็ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้อนุมัติจ่ายเงินแต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่บุคคลผู้ต้องเสียหายอีกรายหนึ่งเป็นเงิน 13,800 บาท จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเงินค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวมาหักจากวงเงินความรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 4 ต้องใช้ให้แก่โจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share