คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693 บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนในเวลาใดก็ได้นั้นหมายถึงว่าจะเพิกถอนเวลาใดก็ได้ตามใจชอบ การเพิกถอนทำอย่างไรนั้น มาตรา 1695 บัญญัติว่า อาจทำโดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ ‘ทำลาย’ หมายความว่า รื้อทำให้ทลาย ทำให้พัง ทำให้ฉิบหาย ทำให้หมดสิ้นไป การทำลายจึงเป็นการที่ต้องทำให้เกิดผลเช่นนั้นและการเพิกถอนมิใช่ให้ทำโดยเพียงแต่แสดงเจตนาด้วยถ้อยคำหากจะต้องมีการกระทำคือ ‘ทำลาย’ หรือ’ขีดฆ่า’ เป็นสำคัญ
พินัยกรรมมีข้อกำหนดตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อไม่ปรากฏว่าข้อกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับด้วยประการใดๆ ถึงแม้โจทก์จะเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เป็นกรณีมีเหตุสมควรที่โจทก์จะขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายซึ่งเป็นสามี

จำเลยกับพวกยื่นคำร้องคัดค้านว่า โจทก์กับเจ้ามรดกเลิกเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่ พ.ศ. 2477 และเจ้ามรดกได้แต่งงานกับจำเลยและมีบุตรด้วยกัน คือ จำเลยอีก 5 คนนี้ เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้จำเลยและตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกคดีขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดก

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์กับเจ้ามรดกมิได้ขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน พินัยกรรมของเจ้ามรดกสมบูรณ์และตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกไว้แล้วไม่มีเหตุผลจะตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกอีก

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนในเวลาใดก็ได้นั้นหมายถึงว่าจะเพิกถอนในเวลาใดก็ได้ตามใจชอบ การเพิกถอนจะทำอย่างไรนั้น มาตรา 1695 บัญญัติว่า อาจทำโดยการทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ “ทำลาย” หมายความว่า รื้อ ทำให้ทลาย ทำให้พัง ทำให้ฉิบหาย ทำให้หมดสิ้นไป การทำลายจึงเป็นการที่ต้องทำให้เกิดผลเช่นนั้น และการเพิกถอนมิใช่ให้ทำโดยเพียงแต่แสดงเจตนาด้วยถ้อยคำ หากจะต้องมีการกระทำคือ “ทำลาย” หรือ “ขีดฆ่า” เป็นสำคัญการที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาเพิกถอนพินัยกรรมเท่านั้น ถือว่ายังมิได้มีการกระทำคือ ทำลายหรือขีดฆ่า พินัยกรรมจึงยังคงมีอยู่มิได้เพิกถอนเมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกและไม่ปรากฏว่าข้อกำหนดนี้ไม่มีผลบังคับด้วยประการใด ๆ ถึงแม้โจทก์จะเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ก็ตามก็ไม่เป็นกรณีมีเหตุสมควรที่โจทก์จะขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์จำเลย

Share