แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยจะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่นจำเลยจึงครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกันมิใช่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
ย่อยาว
จำเลยในคดีนี้เป็นย่าของโจทก์ พนักงานอัยการจึงเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ตามคำร้องขอ โจทก์ฟ้องว่าบิดาโจทก์ตาย มารดาโจทก์ได้ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยไปแล้ว โจทก์ได้ขอแบ่งมรดกส่วนของโจทก์จากจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมให้ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยสู้ว่า โจทก์ต้องร้องขอให้อัยการดำเนินคดีภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย เมื่อโจทก์มาร้องขอเกิน 1 ปี และอัยการโจทก์ฟ้องคดีภายหลัง 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ทรัพย์มรดกบางอย่างเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยครอบครองปรปักษ์โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนสิทธิครอบครองเสียภายใน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ และทรัพย์มรดกบางอย่างซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินมือเปล่านั้นจึงตกเป็นของจำเลยด้วย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์และมารดากับจำเลยได้อยู่ร่วมเรือนและครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือนถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้วจะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาบังคับไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย และเห็นว่าแม้ภายหลังจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์ดังกล่าวแต่ผู้เดียว ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แบ่งทรัพย์ตามฟ้องหรือขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้แก่โจทก์ตามส่วน