คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 ให้โอกาสแก่โจทก์จำเลยที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง หรือคำให้การได้ก่อนศาลพิพากษา ในเมื่อมีเหตุอันสมควรแต่ถึงแม้จะมีเหตุอันสมควรดังที่โจทก์หรือจำเลยอ้างแล้วกฎหมายยังให้อยู่ในดุลพินิจของศาลอีกชั้นหนึ่งว่าสมควรจะอนุญาตหรือไม่
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อให้คดีเสร็จโดยรวดเร็วจึงจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ปฏิเสธและนัดตัดสินเนิ่นนานไปถึง 7 วัน เพื่อประสานกับคดีที่ให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ใหม่ ซึ่งถ้าศาลไม่สั่งเช่นนั้น จำเลยที่ 1 ก็จะถูกศาลพิพากษาลงโทษโดยไม่อาจยื่นคำให้การใหม่ ดังนี้เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ(อ้างนัยฎีกาที่ 555/2501)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 ฯลฯ

วันที่ 5 ตุลาคม 2507 วันพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นสั่งว่า เพื่อให้คดีเสร็จโดยรวดเร็ว ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ภายใน 7 วัน ฟังคำพิพากษาลงวันที่ 12 เดือนนี้

ต่อมาวันที่ 7 เดือนเดียวกัน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเพราะจำเลยให้การดังกล่าวมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดเป็นข้อสารสำคัญของคดีขอให้การใหม่ ปฏิเสธฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 9 เดือน ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น รับคำให้การจำเลยและให้พิจารณาพิพากษาใหม่

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 นั้น ให้โอกาสแก่โจทก์จำเลยที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องหรือคำให้การได้ก่อนศาลพิพากษาในเมื่อเหตุอันสมควร แต่ถึงแม้จะมีเหตุอันสมควรดังที่โจทก์หรือจำเลยอ้างแล้ว กฎหมายยังให้อยู่ในดุลพินิจของศาลอีกชั้นหนึ่งว่าสมควรจะอนุญาตดังที่โจทก์หรือจำเลยขอหรือไม่ ดังนี้ ปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนโจทก์ฟ้องจำเลย 2 คน จำเลยที่ 1 รับสารภาพ จำเลยที่ 2 ปฏิเสธศาลชั้นต้นเห็นว่า เพื่อให้คดีเสร็จรวดเร็ว จึงสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ฟ้องใหม่ภายใน 7 วันแล้วนัดตัดสินสำหรับจำเลยที่ 1 ในวันที่ 12 เดือนเดียวกัน เหตุที่ศาลนัดตัดสินคดีนี้เนิ่นนานไปถึง 7 วันนั้นก็เพื่อประสานกับคดีที่ศาลสั่งให้โจทก์ไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ใหม่ ซึ่งถ้าศาลไม่สั่งเพื่อประโยชน์แก่คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะถูกศาลพิพากษาลงโทษโดยไม่อาจยื่นคำให้การใหม่ได้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนถึงขั้นเสร็จการพิจารณาแล้ว เมื่อพิเคราะห์ประกอบความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ อ้างนัยฎีกาที่ 555/2501 พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share