คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์กระทำขึ้นหลังเกิดเหตุไม่นาน ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียดเป็นขั้นตอนสอดคล้องต้องกันเริ่มตั้งแต่สาเหตุที่เกิดเรื่องจนกระทั่งผู้ตายทั้งสามถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกรุมทำร้ายจนสลบแล้วนำตัวขึ้นรถยนต์ปิกอัพออกไปจากที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะ ว. เป็นพยานคนกลางที่ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน และเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4จะเข้ามอบตัว ย่อมไม่มีเวลาที่จะคิดไตร่ตรองเพื่อปรักปรำหรือช่วยเหลือฝ่ายใด ส่วน พ. และ ส. ที่มาให้การหลังเกิดเหตุประมาณ 20 วันก็เพราะนายจ้างสั่งห้ามไว้และกลัวจะเกิดอันตรายแก่ตนเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ แม้ในชั้นพิจารณาพยานเหล่านี้จะเบิกความถึงข้อความที่ระบุในคำให้การชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ร่วมทำร้ายผู้ตายทั้งสามนั้นพนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำขึ้นเอง พยานมิได้ให้การเช่นนั้นก็เป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มากกว่า เพราะการสอบสวนได้กระทำและควบคุมโดยนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนายขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนโดยตรง จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่พนักงานสอบสวนและผู้ควบคุมจะสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น คำให้การชั้นสอบสวนของพยานเหล่านี้ที่เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงน่าจะเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็นำสืบรับว่าขณะเกิดเหตุทั้งสี่คนได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยแต่ไม่มีส่วนร่วมทำร้ายผู้ตายทั้งสามเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคนร้ายร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้ตายทั้งสามจนสลบแล้วนำร่างของผู้ตายทั้งสามใส่รถยนต์ปิกอัพขับออกไป และแม้ขณะที่ผู้ตายทั้งสามถูกฆ่าจะไม่มีพยานผู้ใดรู้เห็น แต่จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ที่นำร่างผู้ตายทั้งสามใส่รถยนต์ปิกอัพขับออกไป ต่อมารุ่งเช้ามีผู้พบศพผู้ตายทั้งสามจมน้ำอยู่ในร่องสวนซึ่งมีระยะห่างจากจุดที่นำร่างผู้ตายทั้งสามขึ้นรถยนต์ปิกอัพไม่กี่ชั่วโมง ย่อมเป็นการชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 กับพวกเป็นผู้ร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสามจริง
ผู้ตายทั้งสามมีบาดแผลที่บริเวณศีรษะเป็นจำนวนมาก บาดแผลส่วนใหญ่เกิดจากการถูกตีด้วยของแข็งมีน้ำหนักมากจนกะโหลกศีรษะของแต่ละคนแตกกระจายทั่วไปเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มีเนื้อสมองออกมาจากบาดแผล และพบเศษดินโคลนและน้ำในหลอดลม แพทย์ลงความเห็นว่าผู้ตายทั้งสามตายเนื่องจากสมองถูกทำลายจากของแข็งกระทบกระแทกและขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ ชี้ให้เห็นว่าก่อนที่ผู้ตายทั้งสามจะตายได้ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกใช้ของแข็งไม่มีคมทุบตีที่บริเวณศีรษะอย่างรุนแรงหลายครั้งอย่างโหดเหี้ยมจนกะโหลกศีรษะแตกกระจายเนื้อสมองไหลออกมาจากบาดแผล หลังจากนั้นยังถูกนำไปทิ้งน้ำทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกมีเจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสามโดยการทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) ประกอบด้วยมาตรา 83

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 6

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี, 157, 83,91, 33 และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แหวนทองคำ1 วง ราคา 1,150 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง10 องค์ ราคา 18,000 บาท รวมราคา 19,150 บาท แก่ทายาทของนายชัชชัยหรือเหม่าผู้เสียหาย ริบรถยนต์ปิกอัพหมายเลขทะเบียน9 ผ-5180 กรุงเทพมหานคร อาวุธปืนพกขนาด .45 จำนวน 1 กระบอกพร้อมซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง อาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก พร้อมซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง ลูกตุ้มซีเมนต์ 1 อันผ้าใช้รัดคอ 1 เส้น เศษผ้าสีแดง 1 ชิ้น และกุญแจมือ 1 คู่ ของกลาง

จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางอุไรวรรณ โลหิตตาดิส ภริยานายสมศักดิ์ โลหิตตาดิส ผู้ตาย และนายมนัส กันลัยพันธุ์ บิดานายชัชชัยหรือเหม่ากันลัยพันธุ์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ (ที่ถูกอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดต่อชีวิตและปล้นทรัพย์)

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) ประกอบมาตรา 83 ให้วางโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งหกและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งหก ทางนำสืบของจำเลยทั้งหกเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) คงให้จำคุกจำเลยทั้งหกตลอดชีวิต ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งหกอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งหกฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องที่ห้องพักเลขที่ 160/359 บนชั้นที่ 12 ของคอนโดมิเนียมแกรนด์ริเวอร์วิวทาวเวอร์ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีการลักลอบเล่นการพนันโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อนายสมศักดิ์ โลหิตตาดิส ทราบเรื่องจึงให้นายนฤพนธ์หรือกุ้ง อนุรักษ์ปราการ นายชัชชัยหรือเหม่า กันลัยพันธ์ กับพวกไปห้ามปรามและสั่งให้หยุดเล่นและระหว่างที่ขึ้นไปห้ามนายนฤพันธ์ได้ตรวจค้นและยึดอาวุธปืนและบัตรประจำตัวข้าราชการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไป ต่อมานายสมศักดิ์ นายนฤพันธ์และนายชัชชัย ได้เจรจาทำความตกลงกับพวกที่จัดให้มีการเล่นการพนัน แต่ตกลงกันไม่ได้และถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวรุมทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา

สำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาทำนองว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำผิดฐานดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในความผิดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสามโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีนายวิรัตน์ สีทองสุข นายสุริยะ แซ่เตีย ยามรักษาความปลอดภัยคอนโดมิเนียมที่เกิดเหตุ กับนายพงษ์ศักดิ์หรือหนุ่ม แดงต้อย นายกิติรัชหรือยักษ์ มณีทรัพย์กุล และนายศุภชัยหรือติ๋ว เพื่อนผู้ตาย เป็นประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าหลังจากนายนฤพันธ์หรือกุ้งและนายชัชชัยหรือเหม่าผู้ตายทั้งสองกับพวกได้ยึดอาวุธปืนและบัตรประจำตัวข้าราชการของจำเลยที่ 2และที่ 3 แล้ว ได้พากันลงมายังชั้นล่าง เห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนลูกซองยาวเดินเข้าไปต่อว่านายนฤพันธ์กับพวกที่รังแกพวกจำเลยที่ 1จากนั้นจำเลยที่ 6 ได้เข้ามาพูดให้นายนฤพันธ์กับพวกคืนอาวุธปืนและบัตรประจำตัวข้าราชการให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลังจากนั้นไม่นานนายสมศักดิ์ได้มายังที่เกิดเหตุเจรจากับจำเลยที่ 1 และพวกแต่ตกลงกันไม่ได้ นายนฤพันธ์ได้เอากล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายรูปพวกจำเลย ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกไม่พอใจจึงเข้ารุมทำร้ายนายนฤพันธ์ นายสมศักดิ์และนายชัชชัยจนสลบไป แม้ในชั้นพิจารณานายวิรัตน์ นายพงษ์ศักดิ์ นายกิติรัช และนายศุภชัยจะไม่ยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกับพวกที่หลบหนีไปทำร้ายผู้ตายทั้งสาม คงมีแต่นายสุริยะผู้เดียวที่เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ปิกอัพไมตี้เอ็กซ์สีขาวมากับชายอีกคนหนึ่งแล้วจำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปคุยกับชายวัยรุ่น 4 ถึง 5 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกนายนฤพันธ์ยึดอาวุธปืนและหลังจากผู้ตายทั้งสามถูกทำร้ายจนสลบไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลากตัวผู้ตายทั้งสามขึ้นรถยนต์ปิกอัพของจำเลยที่ 1 ขับออกไปก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.4 จ.7จ.8 จ.10 และ จ.45 มาเป็นพยาน ซึ่งในคำให้การดังกล่าวต่างระบุต้องกันว่า ในขณะที่ผู้ตายทั้งสามเจรจาเพื่อจะตกลงเรื่องที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 และพวกนั้น นายนฤพันธ์ได้ใช้กล้องถ่ายรูปที่ถือติดมือมาถ่ายรูปจำเลยที่ 1 กับพวก ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งถืออาวุธปืนลูกซองยาวมาด้วยกับพวกไม่พอใจ จำเลยที่ 4 ซึ่งมากับจำเลยที่ 1 ได้เข้าล็อกคอนายนฤพันธ์พร้อมกับใช้อาวุธปืนจี้ที่ศีรษะ จากนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3และลูกน้องนายตี๋ที่มาเปิดบ่อนการพนันได้เข้ารุมเตะ กระทืบ และใช้ตุ้มคอนกรีตทุบที่ใบหน้าจนนายนฤพันธ์สลบไป เมื่อนายสมศักดิ์ชักอาวุธปืนจะเข้าช่วยก็ถูกนายตี๋กับพวกแย่งอาวุธปืนและรุมเตะกระทืบจนสลบ ส่วนนายชัยชัยก็ถูกจำเลยที่ 1 กับลูกน้องนายตี๋รุมทำร้ายเตะ ต่อยจนสลบไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกได้นำตัวผู้ตายทั้งสามขึ้นท้ายรถยนต์ปิกอัพยี่ห้อโตโยต้าไมตี้เอ็กซ์สีขาวขับออกไป รุ่งเช้ามีผู้พบศพผู้ตายทั้งสามจมน้ำอยู่ในร่องสวนใกล้โรงงานบริดสโตนส์ จังหวัดปทุมธานี เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของพยานดังกล่าวได้กระทำขึ้นหลังเกิดเหตุไม่นาน ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียดเป็นขั้นตอนสอดคล้องต้องกันเริ่มตั้งแต่สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องนี้จนกระทั่งผู้ตายทั้งสามถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกที่หลบหนีรุมทำร้ายจนสลบแล้วนำตัวขึ้นรถยนต์ปิกอัพขับออกไปจากที่เกิดเหตุโดยเฉพาะ นายวิรัตน์ซึ่งนับว่าเป็นพยานคนกลางได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน และเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะเข้ามอบตัวสู้คดีย่อมไม่มีเวลาที่จะคิดไตร่ตรองเพื่อปรักปรำหรือช่วยเหลือฝ่ายใด ส่วนนายพงษ์ศักดิ์นายศุภชัยและนายสุริยะที่มาให้การเพิ่มเติมในรายละเอียดหลังจากเกิดเหตุประมาณ 20 วัน ก็ได้ความว่า เนื่องจากพยานเหล่านี้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนในภายหลังเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยเฉพาะนายสุริยะอ้างว่าเนื่องจากผู้จัดการคอนโดมิเนียมซึ่งเป็นนายจ้างสั่งห้ามไว้ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลที่ทำให้พยานเหล่านี้มาให้การเพิ่มเติมในรายละเอียดล่าช้า จึงหาเป็นพิรุธแต่อย่างใดไม่ แม้ในชั้นพิจารณาพยานเหล่านี้มิได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ร่วมทำร้ายผู้ตายทั้งสามด้วย โดยอ้างทำนองว่าข้อความที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสามด้วยนั้นพนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำขึ้นเอง พยานมิได้ให้การเช่นนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่พยานเหล่านี้พยายามเบิกความเพื่อจะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เสียมากกว่า เพราะการสอบสวนคดีนี้ได้กระทำและควบคุมโดยนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนโดยตรง จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่พนักงานสอบสวนและผู้ควบคุมจะทำการสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น คำให้การชั้นสอบสวนของนายพงษ์ศักดิ์ นายศุภชัย นายกิติรัช นายวิรัตน์ และนายสุริยะตามเอกสารหมาย จ.4 จ.7 จ.8 จ.10 และ จ.45 ที่เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงน่าจะเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานเหล่านี้ ในชั้นพิจารณาคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็นำสืบรับว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยเพียงแต่อ้างว่าไม่ได้มีส่วนร่วมทำร้ายผู้ตายทั้งสามเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกที่หลบหนีทำร้ายร่างกายผู้ตายทั้งสามจนสลบแล้วนำร่างของผู้ตายทั้งสามใส่รถยนต์ปิกอัพขับออกไปพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองได้ แม้ขณะที่ผู้ตายทั้งสามถูกฆ่าจะไม่มีพยานผู้ใดรู้เห็น แต่จากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4กับพวกที่หลบหนีช่วยกันรุมทำร้ายผู้ตายทั้งสามจนสลบแล้วนำตัวขึ้นรถยนต์ปิกอัพขับพาออกไป ต่อมารุ่งเช้ามีผู้พบศพผู้ตายทั้งสามจมน้ำอยู่ในร่องสวนซึ่งเป็นระยะเวลาห่างจากที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4กับพวกพาผู้ตายทั้งสามขึ้นรถยนต์ปิกอัพขับออกไปไม่กี่ชั่วโมงย่อมชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกที่หลบหนีเป็นผู้ร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสามจริง ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 3ไม่เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือทารุณโหดร้ายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจะไม่มีพยานมาเบิกความให้เห็นว่านับจากเวลาที่ผู้ตายทั้งสามถูกนำตัวขึ้นรถไปจนถึงเวลาที่ผู้ตายทั้งสามถูกฆ่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกที่หลบหนีไปกระทำอย่างไรบ้าง แต่จากบาดแผลที่ผู้ตายทั้งสามได้รับตามรายงานการตรวจศพของแพทย์เอกสารหมาย ป.จ.1 ถึง ป.จ.3 ปรากฏว่าผู้ตายทั้งสามมีบาดแผลที่บริเวณศีรษะเป็นจำนวนมาก บาดแผลส่วนใหญ่เกิดจากถูกตีด้วยของแข็งที่มีน้ำหนักมากจนกะโหลกศีรษะของแต่ละคนแตกกระจายทั่วไปเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มีเนื้อสมองออกมาจากบาดแผลสำหรับนายสมศักดิ์และนายชัชชัยยังพบเศษดินโคลนและน้ำในหลอดลมซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ตายทั้งสามถึงแก่ความตายเนื่องจากสมองถูกทำลายจากของแข็งกระทบกระแทกและขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ ชี้ให้เห็นว่าก่อนผู้ตายทั้งสามจะถึงแก่ความตายได้ถูกจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 กับพวกใช้ของแข็งไม่มีคมทุบตีที่บริเวณศีรษะอย่างรุนแรงหลายครั้งอย่างโหดเหี้ยมจนกะโหลกศีรษะแตกกระจายเนื้อสมองไหลออกมาจากบาดแผล หลังจากนั้นยังถูกนำไปทิ้งน้ำทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกที่หลบหนีมีเจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสามโดยการทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

สำหรับจำเลยที่ 5 โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองคงมีแต่คำให้การชั้นสอบสวนของนายวิรัตน์เอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 3 ซึ่งระบุว่าเห็นจำเลยที่ 5 ร่วมทำร้ายพวกนายสมศักดิ์ด้วยเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยที่ 5 ทำร้ายใครอย่างไร และแม้ด้านหลังคำให้การแผ่นที่ 3 จะระบุว่า จำเลยที่ 5 อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุด้วย แต่ข้อความต่อไปที่ว่า”แต่จะร่วมทำร้ายใครหรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบ” ได้ถูกขีดฆ่าออกไปโดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้จึงเป็นพิรุธอยู่นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา ไม่ปรากฏว่ามีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 5 ร่วมทำร้ายผู้ตายทั้งสามกลับได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกสมชัย เจริญทรัพย์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า ไม่มีใครยืนยันว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมทำร้ายหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้น

สำหรับจำเลยที่ 6 นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองคงมีแต่คำให้การเพิ่มเติมชั้นสอบสวนของนายสุริยะเอกสารหมาย จ.45 ระบุว่า ขณะที่ชาย6 คนกำลังล้อมนายสมศักดิ์กับพวกอยู่ จำเลยที่ 6 ได้ขับรถเข้ามาจอดที่ใต้ถุนคอนโดมิเนียมห่างจากนายสมศักดิ์ประมาณ 7 ถึง 8 เมตร แล้วจำเลยที่ 6 ลงมายืนอยู่ข้างประตูรถด้านคนขับพูดใส่นายสมศักดิ์กับพวกว่า “พวกมันซ่านักก็เก็บมันเสียเลย” พร้อมกับหันไปทางชาย 6 คนที่ล้อมอยู่เป็นสัญญาณให้จัดการนายสมศักดิ์กับพวก ทันใดนั้นชายทั้ง 6 คนก็ลงมือทำร้ายนายสมศักดิ์กับพวกจนหมดสติมาเป็นพยานเท่านั้น แต่คำให้การดังกล่าวก็ขัดกับที่นายสุริยะให้การไว้ครั้งแรกว่าขณะชาย 6 คนล้อมนายสมศักดิ์กับพวก นายนฤพันธ์ได้ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นทำท่าถ่ายรูป ชายทั้ง 6 คนได้ชักอาวุธปืนออกมาจ้องไปทางนายนฤพันธ์ ชายที่สวมเสื้อกั๊กสีครีมพูดว่า”มึงจะถ่ายรูปกูเหรอ มึงแน่มาก” แต่นายนฤพันธ์ยังคงถ่ายรูปต่อไปจึงถูกชายทั้ง 6 เข้ารุมทำร้าย แสดงให้เห็นว่าเหตุเกิดเพราะนายนฤพันธ์ถ่ายรูปพวกจำเลย ซึ่งตรงกับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานอื่นโดยเฉพาะของนายกิติรัชและนายวิรัตน์ตามเอกสารหมาย จ.8 และจ.10 ซึ่งให้การตรงกันว่า ขณะเจรจากันนายนฤพันธ์เอากล้องถ่ายรูปที่ถือติดมือมาถ่ายรูปจำเลยที่ 1 กับพวกจึงถูกรุมทำร้าย นอกจากนี้ในทางพิจารณาก็ไม่มีพยานปากใดแม้แต่นายสุริยะที่เบิกความยืนยันว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ได้พูดให้จำเลยที่ 1 กับพวกเก็บผู้ตายทั้งสามพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 6จึงเป็นพิรุธ น่าสงสัยว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ได้ร้องบอกให้จำเลยที่ 1กับพวกเก็บผู้ตายทั้งสามจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 6 มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 6 ฟังขึ้น

อนึ่ง เนื่องจากไม่ปรากฏทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้อาวุธปืนในการทำร้ายผู้ตายทั้งสามด้วย ดังนั้น อาวุธปืนพกขนาด .45 จำนวน 1 กระบอกพร้อมซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง และอาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอกพร้อมซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง ซึ่งยึดมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ และอาวุธปืนดังกล่าวก็มีทะเบียนไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดด้วยอันจะพึงริบได้ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบอาวุธปืนและซองบรรจุกระสุนปืนของกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6 คืนอาวุธปืนพกขนาด .45 จำนวน 1 กระบอกพร้อมซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง และอาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอกพร้อมซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share