แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีอำนาจยึดและอายัดทรัพย์สินของ ต. ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ขออายัดเงินที่มีผู้นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่ ต. แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอให้ยึดเงินจำนวนนั้นไว้ก่อนแล้ว โจทก์ จำเลยจึงตกลงกันตามบันทึกว่า จำเลยไม่มีสิทธิในเงินจำนวนนี้เพราะจะต้องตกเป็นของรัฐตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และจะไปถอนการยึดภายใน 15 วัน ดังนี้ บันทึกของจำเลยจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850
บันทึกอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดไว้แล้วย่อมใช้บังคับได้ ดังนั้น จำเลยจะบอกเลิกข้อตกลงด้วยการแสดงเจตนามาฝ่ายเดียว โดยไม่มีเหตุที่จะบอกเลิกสัญญาไม่ได้
จำเลยฎีกาว่า บันทึกของจำเลยเป็นสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ แต่มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 42/2515 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2515 ให้บรรดาที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของนายเติม ทับทิมทอง กับพวกตกเป็นของรัฐ และให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในนามของรัฐ และให้มีอำนาจยึดทรัพย์สินอื่นของนายเติม ทับทิมทอง กับพวกเท่าที่จะพอแก่จำนวนเงินที่รัฐต้องเสียหาย และให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นตกเป็นของรัฐ ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1-2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2516 โจทก์ได้อายัดเงินจำนวน 2,760 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งที่นายสนิท ทองสุภา นำไปวางศาลแทนการชำระหนี้แก่นายเติม ทับทิมทองแต่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้นายเติม ทับทิมทอง ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรีคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2514 ได้นำยึดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจอายัดเงินจำนวนนี้ได้ ต่อมาจำเลยได้ตกลงทำบันทึกลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2517 ต่อคณะกรรมการผู้แทนของโจทก์จะถอนการยึดต่อศาลจังหวัดนนทบุรีภายใน 15 วัน ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 แต่แล้วจำเลยกลับไม่ปฏิบัติตามจึงขอให้จำเลยถอนการยึดดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า บันทึกที่ทำไว้ไม่ผูกพันจำเลยที่จะต้องปฏิบัติตาม ได้บอกเลิกให้โจทก์ทราบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยไปขอถอนการยึดเงิน 2,760 บาทที่นายสนิทวางไว้ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เนื่องจากมีคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งให้บรรดาที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของนายเติม ทับทิมทอง กับพวกตกเป็นของรัฐและให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในนามของรัฐ และให้มีอำนาจยึดทรัพย์สินอื่นของนายเติมกับพวกเท่าที่พอกับจำนวนเงินที่รัฐต้องเสียหาย และให้กรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินนั้นตกเป็นของรัฐ และให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจอายัดบรรดาทรัพย์สินของนายเติม โจทก์จึงขออายัดเงินจำนวน 2,760 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่นายสนิท ทองสุภา นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่นายเติม แต่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอให้ยึดเงินจำนวนนั้นไว้ก่อนแล้ว คณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์และจำเลยจึงได้มีการเจรจาทำความตกลงกันตามบันทึก
เห็นว่า เหตุที่มีบันทึกของจำเลยดังกล่าวก็เนื่องจากโจทก์จำเลยมีกรณีพิพาทกันในเรื่องเงินที่นายสนิท ทองสุภา มาวางศาลว่าจำเลยจะมีสิทธิรับเงินจำนวนนี้ไปได้หรือไม่ ผลที่สุดจำเลยยอมรับว่าจำเลยไม่มีสิทธิในเงินจำนวนนี้เพราะจะต้องตกเป็นของรัฐตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ จำเลยจึงตกลงถอนการยึดเงินดังกล่าว โดยจะไปยื่นคำร้องขอถอนการนำยึดภายใน 15 วัน และได้ทำบันทึกไว้ดังกล่าวแล้ว ดังนี้ บันทึกของจำเลยจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็ลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดไว้แล้ว ย่อมใช้บังคับได้ เมื่อฟังว่าบันทึกของจำเลยเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยจะบอกเลิกข้อตกลงนั้นด้วยการแสดงเจตนามาฝ่ายเดียวโดยไม่มีเหตุที่จะบอกเลิกสัญญาหาชอบไม่ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยตามบันทึกดังกล่าวแล้วได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากจะรับฟังว่าบันทึกของจำเลยเป็นสัญญาก็เป็นสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับแก่จำเลยมิได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน