คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ระบุพยานเอกสารเพิ่มเติมก่อนเสร็จการสืบพยานของจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28แต่ในวันที่ 27 เดือนนั้น โจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารเหล่านั้นให้จำเลยในวันที่ 28 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงคัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าว โจทก์แถลงขอให้ศาลเลื่อนคดีไปเพื่อให้โอกาสจำเลยได้มีเวลาตรวจดูเอกสารหรือศึกษาข้อเท็จจริงจากเอกสารนั้นก่อน จำเลยคัดค้านว่าไม่ควรเลื่อนเพราะเหตุนี้ ศาลให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 เดือนถัดมา ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) หาขัดต่อ มาตรา 90 ไม่
แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย ก็เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสามหรือไม่ เมื่อศาลไม่สั่ง โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปล และศาลรับฟัง เอกสารดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เช่าตึกแถวเลขที่ 4/5 และ 4/6 จากโจทก์แล้วจำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวต่ออีกมีกำหนด 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2508 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2510 จำเลยได้รับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวเลขที่ 4/7 ไปจากนายฮังคุณ แซ่กอ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2510 เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนางเกียง แซ่จัง ผู้เช่าตึกแถวเลขที่ 4/3 และ 4/4 ครบอายุสัญญาลง จำเลยได้ละเมิดสิทธิโจทก์โดยเข้าไปอยู่ในตึกแถวดังกล่าวแทนโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบ ต่อมาเมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดสัญญาแล้ว จำเลยก็ยังคงอยู่ในตึกแถวที่เช่าเลขที่ 4/5, 4/6 และ 4/7 เรื่อยมาโดยมิได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์จำเลยจึงได้มาติดต่อกับโจทก์ขอผ่อนผันอยู่ในตึกแถวที่เช่าต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2513 โจทก์ยินยอมโดยทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยก็ไม่ยอมออกไป ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยออกไปจากตึกแถวทั้ง 5 คูหาของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ขออนุญาตดัดแปลงเป็นอู่ซ่อมรถยนต์ ซึ่งโจทก์อนุญาตโดยโจทก์ให้จำเลยจ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้า 20,000 บาทก่อนและสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว ทำขึ้นระหว่างนายจรัสชลวิบูลย์ มิใช่ทำขึ้นระหว่างสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทเลขที่ 4/3, 4/4, 4/5, 4/6 และ 4/7 พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินตลอดทั้งบริวารออกไป และส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 9,750 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลจะรับฟังเอกสารหมาย จ.6, จ.7 และ จ.8 ไม่ได้ เพราะขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ทั้งเอกสารนี้ก็เป็นภาษาต่างประเทศไม่มีคำแปลอันศาลจะรับฟังได้นั้น ได้ความว่า โจทก์ได้ระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2516 ก่อนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนแล้ว ได้มีการเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2516 แต่ในวันที่ 27 สิงหาคม 2516ทนายโจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.6, จ.7, จ.8 และ จ.9 ให้จำเลย ครั้นในวันที่ 28 สิงหาคม 2516 ซึ่งเป็นวันสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงคัดค้านไม่ให้ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าว โจทก์ได้แถลงขอให้ศาลเลื่อนคดีไปเพื่อให้โอกาสจำเลยได้มีเวลาตรวจดูเอกสารและศึกษาข้อเท็จจริงจากเอกสารนั้นก่อน จำเลยแถลงคัดค้านไม่ควรเลื่อนเพราะเหตุนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นสมควรให้โจทก์เลื่อนคดีไป เพราะโจทก์พึ่งขอเลื่อนคดีเป็นครั้งแรก โดยสั่งเลื่อนให้ไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 กันยายน 2516 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลย่อมรับฟังเอกสารหมาย จ.6, จ.7 และ จ.8 เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ไม่ ส่วนที่เอกสารหมาย จ.6, จ.7 และ จ.8 เป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรคสาม หรือไม่ เมื่อศาลไม่สั่ง โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปลดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารดังกล่าวประกอบพยานบุคคลว่าในวันที่ 20 กันยายน 2510 นายจรัส ชลวิบูลย์ ยังอยู่ในต่างประเทศนั้น จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว

พิพากษายืน

Share