คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 นั้น ถือเป็นกฎหมายให้อำนาจจำเลย(พนักงานสอบสวน) จะควบคุมโจทก์ไว้ทำการสอบสวนได้ 30 วัน การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย(ให้พิจารณาร่วมกับนายอำเภอ) เสียก่อนควบคุมนั้นเป็นเรื่องภายในเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการเท่านั้น หาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใดไม่ความประพฤติของโจทก์ที่จำเลยนำสืบก็เป็นพฤติการณ์ที่มีอยู่ก่อนโจทก์ถูกจับในข้อหาฐานพยายามฆ่าคนแล้ว ไม่ใช่จำเลยมาสร้างหลักฐานขึ้นภายหลังการกระทำของจำเลยที่ควบคุมโจทก์ในฐานเป็นบุคคลอันธพาลจึงไม่เป็นผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 นำเจ้าพนักงานจับโจทก์ โดยแกล้งกล่าวหาว่าพยายามฆ่าคน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2, 3, 4 ร่วมกันทำร้ายโจทก์ โจทก์จำยอมให้การว่า รับจ้างผู้อื่นยิงจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน โจทก์ได้รับความเสียหาย บาดเจ็บจำเลยที่ 1, 2 ควบคุมโจทก์ติดต่อกัน 30 วัน โดยแกล้งกล่าวหาว่าเป็นบุคคลอันธพาล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 200, 295, 297, 391, 82, 84, 86, 137, 172, 309, 310

จำเลยที่ 1, 2 ให้การว่า จับกุมโจทก์ในข้อหาพยายามฆ่าจำเลยที่ 3 โจทก์ให้การรับสารภาพ จำเลยกระทำหน้าที่โดยชอบ

จำเลยที่ 3, 4 ปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามมาตรา 310, 157ลงบทหนักมาตรา 157 จำคุก 1 ปี รอการลงโทษ 1 ปี นอกนั้นยืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจควบคุมโจทก์ในฐานะบุคคลอันธพาล 30 วันตามประกาศหัวหน้าคณะปฏิวัติได้โดยชอบหรือไม่เท่านั้น เห็นว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 และ กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือที่ 17738/2501 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2501 วางหลักในการปฏิบัติไว้ว่า ในการจับกุมบุคคลผู้มีพฤติการณ์ตามประกาศนั้นเพื่อทำการสอบสวนในข้อหาใด ให้ปฏิบัติดังนี้คือ ให้นายอำเภอกับผู้บังคับกองตำรวจหรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอพิจารณาร่วมกันดำเนินการ ในกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างนายอำเภอกับผู้บังคับกองหรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสั่งการ

โจทก์นำสืบว่า โจทก์มีอาชีพทำสวน มีสวนทุเรียน 10 ไร่ นา 12 ไร่ ทำมาหากินอยู่กับนางอีดมารดาและน้อง ไม่เคยไปเที่ยวนอนค้างที่ไหน ไม่เคยมีความประพฤติเสียหาย

จำเลยนำสืบว่า โจทก์มาเที่ยวบ้านพยานขอขนมกินบ้าง พักบ้างราษฎรพูดกันว่า โจทก์เล่นการพนัน มีอาวุธปืน ชอบไปเที่ยวบ้านนายห้องนางเขียวซึ่งมีลูกสาว เล่นไพ่ไทย ชวนชาวบ้านเล่นการพนันพกปืน เอาปืนขู่ลูกสาวนางเขียวให้รักโจทก์ เรื่องอาวุธปืนโจทก์ถูกจับ ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่จำเลยที่ 1 มีความเห็นว่า โจทก์ประพฤติตนเป็นบุคคลอันธพาลตามประกาศคณะปฏิวัติก็มีเหตุสมควรอยู่เมื่อโจทก์ถูกจับในคดีอาญาฐานพยายามฆ่าคน จำเลยก็มีอำนาจที่จะควบคุมโจทก์เพื่อทำการสอบสวนความผิดคดีอาญาได้มีกำหนด 30 วัน แม้จะมีกรณีให้สงสัยว่าจำเลยบันทึกเสนอเรื่องโจทก์เป็นบุคคลอันธพาลต่อนายอำเภอขึ้นหลังจากที่จับโจทก์มาควบคุมแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นคำสั่งของคณะปฏิวัตินั้นถือเป็นกฎหมายให้อำนาจจำเลยที่จะควบคุมโจทก์ไว้ทำการสอบสวนได้ 30 วัน การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบเสียก่อนนั้นเป็นเรื่องภายในอันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการเท่านั้น หาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ความประพฤติของโจทก์ที่จำเลยนำสืบนั้น ก็เป็นพฤติการณ์ที่มีอยู่ก่อนโจทก์ถูกจับในข้อหาพยายามฆ่าคนแล้ว ไม่ใช่จำเลยมาสร้างหลักฐานขึ้นภายหลัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ควบคุมโจทก์ในฐานะเป็นบุคคลอันธพาลเป็นการกระทำโดยตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้ ยกฟ้องโจทก์

Share