คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2,3 เข้าอยู่ในที่ดินเพื่อกรีดยางของโจทก์นั้น ไม่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ จึงไม่มีประเด็นจะพึงวินิจฉัย
โจทก์มิได้นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ร่วมในการกระทำละเมิด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามขัดขวางไม่ยอมส่งมอบที่ดินตามสัญญาจำเลยที่ 1 ยังให้จำเลยที่ 2 แจ้งการครอบครองแบบ ส.ค.1 เลขที่ 288/98 ในที่ของโจทก์เพื่อฉ้อโกงโจทก์ จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิของโจทก์เก็บผลน้ำยางพาราวันละ 3 แผ่นเป็นเงินวันละ 30 บาทตลอดมา โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ถือได้ว่าคำฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าจากโจทก์ อันเป็นการยึดถือแทนโจทก์ หาได้เข้าอยู่อย่างเป็นเจ้าของไม่ เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้บอกกล่าวการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามยังคงยึดถือแทนโจทก์ตามเดิม ที่พิพาทจึงเป็นของโจทก์
จำเลยอ้างว่าโจทก์ถูกแย่งการครอบครองจึงเป็นกรณีตามที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1375 และเมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสามยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ซึ่งเท่ากับโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ตลอดมา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าสวนของโจทก์ 25 ไร่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นบริวาร ครั้นเดือนพฤษภาคม 2502 โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 อ้างว่า ที่ดินที่เช่า 3 ไร่เป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ทำสัญญาเช่าที่ดินโจทก์ 25 ไร่จริง และที่ดิน 3 ไร่นั้นเป็นของโจทก์ ยอมให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน 3 ไร่นั้นตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าผลของสัญญานี้บังคับถึงจำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ด้วย ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2502 จำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบที่ดินตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 แจ้งการครอบครองในที่เช่าของโจทก์อีก 4 ไร่ จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิของโจทก์เก็บผลน้ำมันยางเป็นเงินวันละ 30 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และขอให้แสดงว่าที่ดิน 4 ไร่เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าน้ำมันยางแต่วันขัดขวางถึงวันฟ้อง 3,000 บาท และวันต่อ ๆ ไปวันละ 30 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในจำนวนเงิน 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จำนวน 3 ไร่เป็นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำนวน 4 ไร่ นอกนั้นเป็นของนางไหม จำเลยที่ 1 ไม่เคยเช่าที่โจทก์ แม้จะมีสัญญาเช่า ก็เพราะโจทก์และพรรคพวกใช้อุบายข่มขู่ให้ทำสัญญา จำเลยทั้งสามเข้าครอบครองตลอดมากว่า 20 ปีแล้ว โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง โจทก์ฟ้องเคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยทำไว้ที่อำเภอ ที่ดิน 4 ไร่ ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้ากรีดยางเป็นที่ดินของโจทก์รวมอยู่ในที่ดิน 25 ไร่ที่จำเลยที่ 1 เช่าจากโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าน้ำยางนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้อง 1,600 บาท และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าน้ำมันยางนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์วันต่อ ๆ ไปวันละ 16 บาทจนกว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะมอบที่ดินให้โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เสียดอกเบี้ยในเงิน 1,600 บาท นับแต่วันฟ้อง

โจทก์ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าอยู่ในที่ดินเพื่อกรีดยางของโจทก์นั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ จึงไม่มีประเด็นจะพึงวินิจฉัย ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้น แม้ตามสัญญาประนีประนอม จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และยอมรับว่าผลของสัญญานี้บังคับตลอดถึงบริวารของจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย แต่ในข้อที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิโจทก์เก็บผลน้ำยางพารานั้นนำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เท่านั้นเป็นผู้เข้ากรีดยางในที่พิพาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ มิได้นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ร่วมในการละเมิดนี้ ยังไม่พอถือว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3

ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ที่ 3 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยทั้งสามขัดขวางไม่ยอมส่งมอบที่ดินตามสัญญา 4 ไร่ จำเลยที่ 1 ยังให้จำเลยที่ 2 แจ้งการครอบครองแบบ ส.ค.1 เลขที่ 288/98 ในที่ของโจทก์เพื่อฉ้อโกงโจทก์ จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิของโจทก์เก็บผลน้ำยางพาราวันละ 3 แผ่น เป็นเงินวันละ 30 บาทตลอดมา โจทก์ได้รับความเสียหาย” ถือได้ว่าคำฟ้องนี้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าจากโจทก์ อันเป็นการยึดถือแทนโจทก์ หาได้เข้าอยู่อย่างเป็นเจ้าของไม่ เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้บอกกล่าวการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามยังคงยึดถือแทนโจทก์ตามเดิม ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 4 ไร่จึงเป็นของโจทก์

ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 1374แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น เห็นว่า จำเลยอ้างว่าโจทก์ถูกแย่งการครอบครอง จึงเป็นกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1375 และเมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสามยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ ซึ่งเท่ากับโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ตลอดเวลา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้

พิพากษายืน

Share