คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 บัญญัติเรื่องโทษไว้ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และมาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้าย และเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 แม้ในมาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติถึงข้อความเจาะจงลงไปว่าความผิดครั้งหนึ่งๆ ด้วยก็ตามก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 27 ฉะนั้น ถ้าศาลจะปรับจำเลยเรียงตัวคนละ 4 เท่า ราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วก็จะเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เกินกว่า 4 เท่า ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวและมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับจึงเอามาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาบังคับไม่ได้จึงต้องปรับจำเลยรวมกันไม่เกิน 4 เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2506 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ร่วมกันรับบุหรี่ซาเลมที่ทำขึ้นในต่างประเทศ โดยรู้ว่ามีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านศุลกากร หลีกเลี่ยงไม่เสียอากร ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 10 ปรับเรียงตัวคนละ 13,809.60 บาท (สี่เท่าราคาของกลางรวมค่าอากร) ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่ง ปรับ 6,904.80 บาท จ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด มาตรา 5, 6, 7, 8 ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อัตราปรับครั้งหนึ่ง ๆ 4 เท่า ของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ไม่ใช่ปรับตามความผิดเป็นรายตัวบุคคลพิพากษาแก้ ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งแล้วปรับจำเลยรวมกัน 6,904.80 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้แบ่งกักขังแทนคนละ 6 เดือน นอกนั้นยืน

โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติศุลกากรมาตรา 27 นั้น มิได้บัญญัติข้อความเฉพาะเจาะจงลงไปว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ “ดังมาตรา 27 กรณีจึงปรับได้กับหลักกฎหมายทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติให้ศาลลงโทษตามรายตัวบุคคลไป ขอให้ลงโทษตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27บัญญัติในเรื่องโทษไว้ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และมาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้าย และเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 นั่นเอง แม้ในมาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่าความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ด้วยก็ตาม ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ฉะนั้นถ้าศาลจะปรับจำเลยเรียกตัวคนละ 4 เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ก็จะเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่า 4 เท่าไป ขัดต่อบทกฎหมายมาตราดังกล่าวและในมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร มีบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ ในกรณีนี้จึงเอามาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาบังคับไม่ได้ มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าต้องปรับจำเลยรวมกันไม่เกิน 4 เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

พิพากษายืน

Share