คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนจำเลยต้องมีความผิดตามมาตรา 172,174 นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเมื่อศาลล่างทั้ง 2 วินิจฉัยต้องกันว่า จำเลยมิได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นการแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้องฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
จำเลยถูกพนักงานสอบสวนสอบสวนเป็นพยานในคดีที่โจทก์กับพวกเป็นจำเลยต้องหากระทำผิดวางเพลิง จำเลยให้การว่า’ข้าพเจ้าเองเมื่อนางแอ๊ดเล่าให้ฟังเช่นนี้มีความรู้สึกสงสัยอยู่เพราะข้าพเจ้าเองก็เคยทราบจากชาวตลาดล่ำลือกันอยู่แล้วว่านายห้างศรีอัมฤทธิ์ผู้นี้ได้จ่ายเงินห้าหมื่นบาทให้นายเสรีอิทธสมบัติ (โจทก์) เป็นค่าจ้างในการวางเพลิงครั้งนี้แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเป็นความจริงเพียงใด’ ดังนี้ จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าเป็นข่าวเล่าลือไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใดรู้เห็นมาบอกเล่าจำเลยไม่ใช่คำบอกเล่าที่กล่าวให้ผู้ฟังเชื่อตามคำจำเลย จำเลยถูกสอบสวนเป็นพยานจึงให้การต่อเจ้าพนักงาน ไม่กระทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจหรือเชื่อว่าโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างวางเพลิงเผาตลาดได้ เพราะเป็นแต่ข่าวเล่าลือยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ตามมาตรา 326

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจเอาความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จอาจทำให้โจทก์และประชาชนเสียหาย แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกชาลี พนักงานสอบสวนมีใจความสำคัญว่า นายห้างศรีอัมฤทธิ (อมร เทพรัตยาภรณ์ จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาดำที่ 32/2507) ได้จ่ายเงินให้นายสมาส อมาตยกุล (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด) หนึ่งแสนบาท และพันตำรวจเอกสุวัฒน์ (อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด) ห้าหมื่นบาทสำหรับออกหนังสือรับรองไปให้กับบริษัทประกันภัย และจ่ายเงินห้าหมื่นบาทให้โจทก์เป็นค่าจ้างวางเพลิงเผาตลาดเมืองร้อยเอ็ดร้อยตำรวจเอกชาลีได้จดถ้อยคำของจำเลยในบันทึกคำให้การพยานในการสอบสวนเป็นความเท็จทั้งสิ้น ไม่มีเหตุการณ์ดังจำเลยแจ้ง เป็นการใส่ร้ายนายอมร นายสมาส พันตำรวจเอกสุวัฒน์และโจทก์ให้เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพื่อให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญา ขอให้ลงโทษตามมาตรา 172, 174(2), 326, 90

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว ที่ฎีกาโจทก์ข้อแรกยกตัวบทประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172, 174 ขึ้นมากล่าวไว้แล้วโต้เถียงว่าโจทก์ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยได้แจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา (ข้อความทำนองเดียวกับที่กล่าวในฟ้อง) ต่อร้อยตำรวจเอกชาลีพนักงานสอบสวน จำเลยต้องมีความผิดตามมาตราดังกล่าวนั้นเห็นว่า ศาลล่างทั้ง 2 วินิจฉัยต้องกันว่า จำเลยมิได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นการแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้อง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

ฎีกาอีกข้อหนึ่งที่ว่า แม้ถ้อยคำของจำเลยจะเป็นคำบอกเล่าก็ตามก็เป็นการกระทำโดยเจตนาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59จำเลยย่อมผิดตามมาตรา 326 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยถูกร้อยตำรวจเอกชาลีสอบสวนเป็นพยานในคดีที่โจทก์กับพวกเป็นจำเลยต้องหากระทำผิดวางเพลิงตามสำนวนคดีดำที่ 32/2507 จำเลยให้การว่า นางแอ๊ดได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับพันตำรวจโท ธวัชชัยบอกเล่าแก่นางแอ๊ดให้จำเลยฟัง ไม่มีข้อความเกี่ยวกับตัวโจทก์ แต่ตอนท้ายคำให้การจำเลยกล่าวเกี่ยวถึงตัวโจทก์ว่า “ข้าพเจ้าเอง เมื่อนางแอ๊ดได้เล่าให้ฟังเช่นนี้มีความรู้สึกสงสัยอยู่เพราะข้าพเจ้าเองก็เคยทราบจากชาวตลาดล่ำลือกันอยู่แล้วว่านายห้างศรีอัมฤทธิ์ผู้นี้ได้จ่ายเงินห้าหมื่นบาทให้นายเสรีอิทธสมบัติ (โจทก์) เป็นค่าจ้างในการวางเพลิงครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเป็นความจริงเพียงใด” เห็นได้ชัดว่าจำเลยกล่าวแต่เพียงว่าเป็นข่าวเล่าลือไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใดรู้เห็นมาบอกเล่าจำเลย ไม่ใช่คำบอกเล่าที่กล่าวให้ผู้ฟังเชื่อตามคำจำเลยจำเลยถูกสอบสวนเป็นพยานจึงให้การต่อเจ้าพนักงาน ไม่กระทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจหรือเชื่อว่าโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างวางเพลิงเผาตลาดได้ เพราะเป็นแต่ข่าวเล่าลือกันเท่านั้น ยังถือได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังตามมาตรา 326 พิพากษายืน

Share