คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6814/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ผิดสัญญาและสัญญายังไม่เลิกกันจำเลยไม่มีสิทธิยึดรถยนต์คืนให้จำเลยคืนรถยนต์แก่โจทก์ให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้ความว่า จำเลยได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในมูลคดีเดียวกันนี้ กล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ กล่าวคือขอให้โจทก์คืนรถยนต์แก่จำเลย ผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์กับพวกคืนรถยนต์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ผิดสัญญาและสัญญายังไม่เลิกกัน จึงขัดกับคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวที่ว่าเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข การชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้เป็นไปตามกำหนด จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองรถยนต์พิพาทได้โดยชอบเมื่อกรณีเป็นดังนี้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่งโดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81 – 9844นครราชสีมา ไปจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,315,680 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดเดือน โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1ไม่ตรงตามกำหนดตลอดมาตั้งแต่งวดแรก แต่จำเลยที่ 1 ยอมรับตลอดมาโดยไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ย โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ยังคงค้างชำระอยู่ทั้งสิ้น 145,710 บาทต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 3 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1ได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวพร้อมทั้งเอาทรัพย์สินอื่นของโจทก์ซึ่งอยู่ในรถยนต์ดังกล่าวไปด้วย ได้แก่ 1. รถเทลเลอร์กึ่งพ่วง 2. ท่อสูบน้ำหัวพญานาค 3. หน้ากากสำหรับใส่โคมไฟหน้า และ 4. ชิ้นส่วนประกอบหัวเก๋งรถยนต์บรรทุก โจทก์ได้ติดต่อขอรับรถยนต์และทรัพย์สินดังกล่าวคืนพร้อมเสนอจะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม จนในที่สุดวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 จึงคืนทรัพย์สินทั้ง 4 รายการแก่โจทก์ ส่วนรถยนต์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ทรัพย์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 382,000บาท และค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์ 70,200 บาท รวมเป็นเงิน452,200 บาท กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 30,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมสมุดคู่มือประจำรถกับชุดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญาที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยที่ 1เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้ชำระราคาครบถ้วนตามสัญญาแม้จำเลยที่ 1 ยอมผ่อนผันการชำระราคาให้ แต่จำเลยที่ 1มิได้ยกเว้นค่าเสียหายหรือดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องชำระตามสัญญาข้อ 9 จำเลยที่ 1 ได้ติดตามทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดหลายครั้งแต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ยึดรถยนต์ดังกล่าวคืนจากโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าขาดประโยชน์ในรถยนต์ดังกล่าวและในทรัพย์สิน 4 รายการที่ติดมากับรถยนต์เป็นเงิน 382,000 บาท แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนทะเบียนและส่งมอบรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 81 – 9844 นครราชสีมา แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยพร้อมกับโจทก์ชำระราคาที่เหลือเป็นเงิน 359,052บาท แก่จำเลยที่ 1 ด้วย หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 650,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 21,852 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 1,821 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 20 ธันวาคม 2538)จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ผิดสัญญาและสัญญายังไม่เลิกกัน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ดังกล่าวคืนให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง 145,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ แต่จำเลยทั้งสามไม่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามทิ้งอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามออกจากสารบบความ คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยในมูลคดีเดียวกันนี้ กล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้กล่าวคือขอให้โจทก์คืนรถยนต์แก่จำเลยที่ 1 ผลคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์กับพวกคืนรถยนต์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2543 คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าสัญญาเป็นสัญญาเช่าซื้อโจทก์ไม่ผิดสัญญา และสัญญายังไม่เลิกกัน จึงขัดกับคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวที่ว่าสัญญาเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขการชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้เป็นไปตามกำหนด ดังนั้น ตามสัญญาข้อ 9จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทได้โดยชอบ เมื่อกรณีเป็นดังนี้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share