แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ(มาตรา 112(1) และเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องการจัดเก็บอากร และค่าธรรมเนียมบางประเภท (ฉบับที่ 2)ฯ ข้อ 3บัญญัติว่า การค้า ซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลอีกในอัตราร้อยละ 10ของอัตราตามประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายให้สถานการค้าในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลเมื่อลูกหนี้ทั้งสองขายที่ดินไป 1 แปลงโดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองมีสถานการค้าจึงต้องถือว่าบ้านที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ทั้งสองเป็นสถานการค้าตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 77(เดิม) เมื่อสถานการค้าดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลกรุงเทพมหานครลูกหนี้ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น
ภาษีท้องถิ่นดังกล่าวเป็นภาษีที่คำนวณมาจากเงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน 80,052.50 บาท ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเงินเพิ่มจำนวน 35,145 บาท ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 3,514.50 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ส่วนเงินเพิ่มที่เหลือจำนวน 44,907.50 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,490.75 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะต้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(8)(เดิม) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 กรมสรรพากรเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน23,204,692.20 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง รายละเอียดตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน23,196,686.95 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง โดยให้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 จำนวน 512,582.94 บาท นอกจากนั้นให้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ส่วนภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 8,005.25 บาทนั้น ไม่อาจพิจารณาให้ได้เนื่องจากลูกหนี้ทั้งสองมิใช่คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2533 ลูกหนี้ทั้งสองขายที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ในราคา 11,157,143 บาท จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 56และมาตรา 78 แต่ลูกหนี้ทั้งสองมิได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้จึงประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 20,160,276 บาท ภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 1,630,142 บาท และได้แจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ทั้งสองทราบแล้ว โดยส่งไปที่บ้านเลขที่ 9/35 หมู่ที่ 7 แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ทั้งสอง แต่ลูกหนี้ทั้งสองมิได้ชำระภาษีแก่เจ้าหนี้และมิได้อุทธรณ์การประเมินจึงเป็นหนี้เด็ดขาด คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน8,005.25 บาท หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 112(1) และเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง การจัดเก็บภาษีอากร และค่าธรรมเนียมบางประเภท(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าการค้า ซึ่งสถานการค้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลอีกในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สถานการค้าในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาลเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ลูกหนี้ทั้งสองขายที่ดินไป1 แปลง โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองมีสถานการค้า จึงต้องถือว่าบ้านเลขที่ 9/35หมู่ที่ 7 แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ทั้งสองเป็นสถานการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 (เดิม)เมื่อสถานการค้าดังกล่าวอยู่ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพหรือกรุงเทพมหานครลูกหนี้ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนท้องถิ่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 8,005.25 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้นอนึ่ง ภาษีส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเป็นภาษีที่คำนวณมาจากเงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน 80,052.50 บาท ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อเงินเพิ่มจำนวน 35,145 บาทถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 3,514.50 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(6)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนเงินเพิ่มที่เหลือจำนวน44,907.50 บาท ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 4,490.75 บาท จึงอยู่ในลำดับที่จะต้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 130(8)(เดิม) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 8,005.25 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองด้วย โดยให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(6) จำนวน3,514.50 บาท และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(8)(เดิม) จำนวน 4,490.75 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์