แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคสองประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ก็ต้องออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้ตรงตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนจำเลยจะได้รับการลดโทษจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 หรือไม่เพียงใด จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาที่จะทำการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำเลยจึงชอบที่จะไปร้องให้ถูกทาง จะขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกใหม่ระบุเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เพื่อมีผลให้จำเลยได้รับอภัยโทษหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดลงวันที่ 17 สิงหาคม 2535 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2ตลอดชีวิต ในฐานความผิดพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (เป็นผู้สนับสนุน) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 52(1) ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่30 มีนาคม 2543 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายใหม่ระบุเฉพาะฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เพื่อมีผลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรงตามคำพิพากษาแล้วยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องเป็นตัวการ แต่ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในฐานความผิดดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ใช่ตัวการหรือผู้ที่เจตนาจะกระทำความผิดหรือเป็นบุคคลที่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542มาตรา 10(1) ไม่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น เห็นว่า ในศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 โดยไม่ต้องระบุว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 มีความผิดฐานพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(เป็นผู้สนับสนุน) ต้องตามกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 52(1) เพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์จากการได้พระราชทานอภัยโทษ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และที่ 2ย่อมยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดตรงตามคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะได้รับประโยชน์คือได้รับการลดโทษจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 หรือไม่เพียงใดนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่จะทำการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบที่จะไปร้องให้ถูกทาง ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน