แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้สองข้อ คือ 1. โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ 2. โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เพียงใด แต่นอกจากจำเลยจะให้การว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ยังให้การว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงด้วย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยในประเด็นข้อ 2. นอกจากจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่แล้ว ยังต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยหรือไม่ด้วย เมื่อพิพากษาคดี โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลัง จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่มิได้ระบุเหตุอื่นไว้ด้วย จำเลยจะยกเหตุอื่นเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม และมาตรา 119 แต่ข้อห้ามดังกล่าวจำกัดอยู่เฉพาะไม่ให้นายจ้างยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้ เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ไม่รวมถึงสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ดังนั้น จำเลยจึงสามารถยกเหตุว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ได้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเรื่องโจทก์ตรวจซ่อมรถว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ แต่การที่โจทก์ทำการตรวจซ่อมรถให้แก่ผู้อื่นในเต็นท์หลังศูนย์บริการของจำเลยย่อมมีเหตุอันควรที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานอยู่ในศูนย์บริการของจำเลยแห่งเดิมอีกต่อไป ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่สาขาอื่น โดยไม่มีการลดตำแหน่งและเงินเดือน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่ช่างยนต์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,790 บาท และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่ช่างยนต์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,670 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 7มกราคม 2543 จำเลยปลดโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นพนักงาน โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ได้บอกล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองทราบตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน สำหรับโจทก์ที่ 1 คิดเป็นเงิน 62,320 บาท และโจทก์ที่ 2 คิดเป็นเงิน 61,360 บาท ทั้งมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายสำหรับโจทก์ที่ 1 จำนวน 49 วัน คิดเป็นเงิน 12,691 บาท และสำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 53 วัน คิดเป็นเงิน 13,550.33 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 12,691 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 13,550.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 62,320 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 61,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันหยุด โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยโจทก์ทั้งสองได้นำเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่เป็นของจำเลยไปหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการนัดหมายกับบุคคลภายนอกให้นำรถมาซ่อมที่สาขาสำเหร่ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ทำงานอยู่โดยไม่มีการทำเอกสารสั่งซ่อมตามระเบียบของจำเลย จำเลยถือว่าโจทก์ทั้งสอง กระทำ การทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดร้ายแรง แต่เพื่อให้โจทก์ทั้งสองมิต้องถูกปลดออกจากงาน จำเลยได้เรียกโจทก์ทั้งสองมาตักเตือนเป็นหนังสือและมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองไปทำงานที่สาขาถนนกิ่งแก้ว เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองกระทำซ้ำอีกและสาขาดังกล่าวต้องการช่างยนต์เพิ่ม อันเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่ยอมย้ายไปถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยเห็นว่าไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชา โจทก์ทั้งสองได้จึงปลดโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลย โดยจำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสอง และจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าจ้างในคราวถัดไป แต่โจทก์ทั้งสองขาดงานโดยไม่ให้เหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า วันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองตรวจซ่อมรถยนต์ของนายสุพัฒน์ คุ้มเลิกกิจพานิช โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ใช้เครื่องมือของจำเลยและไม่ได้ตรวจซ่อมในศูนย์บริการของจำเลยทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับค่าตอบแทน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย และจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 12,691 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน13,550.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 62,320บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 61,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 7 มกราคม 2543) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองโดยเพียงแต่วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น ยังไม่ได้วินิจฉัยข้อต่อสู้ตามคำให้การจำเลยที่ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงสองข้อ คือ ข้อ 1. โจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ และข้อ 2. โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่เพียงใด เท่านั้น แต่ตามคำให้การของจำเลยนอกจากจะให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ยังฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงอีกด้วย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยในประเด็นข้อ 2. ดังกล่าว นอกจากจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่แล้ว ยังต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยหรือไม่ตามข้อต่อสู้ของจำเลยอีกด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลัง จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติมาแล้วเพียงพอที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยอีกสำหรับปัญหาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่นั้น ปรากฏตามคำสั่งที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองอ้างเหตุเลิกจ้างเพียงเหตุเดียวว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ มิได้ระบุเหตุอื่นไว้ด้วย จำเลยจะยกเหตุอื่นเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสามและมาตรา 119 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแต่ข้อห้ามดังกล่าวจำกัดอยู่เฉพาะไม่ให้นายจ้างยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ไม่รวมถึงสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ดังนั้นแม้ในคำสั่งที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจะอ้างเหตุเลิกจ้างเพียงเหตุเดียวว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ดังกล่าวแล้ว จำเลยก็สามารถยกเหตุว่าโจทก์ทั้งสองจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยขึ้นต่อสู้ในภายหลังเพื่อไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ได้ และแม้ศาลแรงงานกลางจะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องโจทก์ทั้งสองตรวจซ่อมรถของนายสุพัฒน์ในวันเกิดเหตุว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสองทำการตรวจซ่อมรถให้แก่ผู้อื่นในเต็นท์หลังศูนย์บริการของจำเลยย่อมมีเหตุอันควรที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทั้งสองทำงานอยู่ในศูนย์บริการของจำเลยแห่งเดิมคือที่สาขาสำเหร่อีกต่อไป ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองไปทำงานที่สาขาถนนกิ่งแก้ว โดยไม่ปรากฏว่ามีการลดตำแหน่งและเงินเดือนของโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง