คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นที่ดินสองแปลงจากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนและศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไป แต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยที่ 3 จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดิน โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดเพราะโจทก์ไม่ต้องวางเงินชำระค่าซื้อที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องจ่ายเงินจากการขายทอดตลาดให้โจทก์อีก ดังนั้นเมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทนก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ในวันที่ศาลสั่งอนุญาต จึงคิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ได้
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีแสดงรายรับ-จ่ายก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคนได้รับตามส่วนโดยถูกต้อง บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 318ถึง 322 นั้นเป็นเพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปครบถ้วนก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่มิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดไปจนกว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณโดยถือว่าเงินจำนวนที่หักได้ใช้แทนนั้น ยังมิได้ชำระให้โจทก์จนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 3 โดยคำนวณดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวมาถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นการไม่ถูกต้อง กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 รวม 13 แปลง ชำระหนี้โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกหรือไม่เพียงใด ดังนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายรับ จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดและคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจากที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินรวม 13 แปลง พอชำระหนี้โจทก์แล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายและเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีก 6 แปลงต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 3 รวม 13 แปลง ออกขายทอดตลาด โดยขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 114 และ 115 ได้ก่อนในราคา 9,650,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้และขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทน ต่อมาขายทอดตลาดที่ดินอีก 11 แปลง ที่เหลือได้ในราคา 13,850,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20487 ถึง 20489 แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 25219 ถึง 25221 แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาด

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องและจำเลยที่ 3 แก้ไขคำร้องว่า ในการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 ทั้ง 13 แปลงนั้น ได้เงินสูงกว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระให้แก่โจทก์รวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และโจทก์ได้ขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนกับรับเงินไปจากเจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ยังมีเงินเหลือต้องคืนให้จำเลยที่ 3 อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่มอีก การยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นการยึดที่ไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการยึด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินจำนวน 1,080,055.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินให้แก่จำเลยที่ 3 ครบถ้วน

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดิน 2 แปลงแรก จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจทำบัญชีจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ต้องรอจนกว่าคดีถึงที่สุด ส่วนที่ดินของจำเลยที่ 3 ที่เหลืออีก 11 แปลง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดไม่มีผู้ใดคัดค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำบัญชีแสดงรายการจ่ายหนี้จำนองให้แก่โจทก์ก่อนเป็นเงิน 12,542,617.58 บาท คงเหลือหนี้อีก 8,164,034.27 บาท ปรากฏว่าในการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดิน 2 แปลงแรกของจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 ให้ยกคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 3 หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำบัญชีจ่ายเงินให้แก่โจทก์ โดยคิดดอกเบี้ยนับแต่วันขายทอดตลาดครั้งสุดท้าย (28 ธันวาคม 2533) จนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา (22 เมษายน 2539) คำนวณแล้วจำเลยทั้งสี่ยังมีหนี้ค้างชำระ 16,625,552.55 บาท เมื่อหักกับราคาที่ดิน 2 แปลงแรก ของจำเลยที่ 3 ที่ขายได้หลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งเหลือเงินจำนวน 9,114,856 บาท แล้วยังคงมีหนี้ค้างชำระอีกจำนวน7,510,696.40 บาท ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่มเติมได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาจำนวน 10,095,047 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,149,589 บาท นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 3 รวม 13 แปลงออกขายทอดตลาด วันที่ 10 สิงหาคม 2532 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินจำเลยที่ 3 ได้ 2 แปลง คือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 114 และ 115 โดยโจทก์ซื้อได้ในราคา 9,650,000 บาท ในวันเดียวกันนั้น โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้หักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ดินที่โจทก์ต้องชำระ ศาลอนุญาตเจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2534 โดยหักส่วนได้ใช้แทนแล้วปรากฏว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อีก 9,027,128.09 บาท และจ่าศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งทำหน้าที่บังคับคดีแทนก็ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับจ่าย – เงิน อีกฉบับหนึ่งโดยหักส่วนได้ใช้แทนแล้วปรากฏว่า จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ 9,973,667.03 บาท ซึ่งโจทก์ได้ตรวจสอบและลงชื่อไว้แล้ว ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว วันที่ 28 ธันวาคม 2533เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 ที่เหลืออีก 11 แปลง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 13,850,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 คำนวณหนี้ที่โจทก์รับจำนองที่ดินทั้ง11 แปลงดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยชำระให้โจทก์ 12,542,617.58 บาท ครบหนี้จำนองหลังจากหักค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้ว ยังคงเหลือเงิน543,832.42 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินส่วนที่เหลือดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 รับไปแล้ว หลังจากนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 114 และ 115 ของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมดคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2533 ซึ่งเป็นวันขายทอดตลาดที่ดิน 11 แปลง หักชำระหนี้โจทก์ 12,542,617.58 บาทแล้ว ยังเหลือต้นเงินจำนวน 8,164,034.27 บาท แล้วคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว จากวันที่ 29 ธันวาคม 2533 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คิดเป็นดอกเบี้ย 8,461,518.55 บาท รวมเป็นหนี้ที่ค้างชำระโจทก์ 16,625,552.82 บาท โจทก์มีส่วนได้ในคดีหักใช้แทนราคาที่ดิน 9,114,856 บาท จำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อีก 7,510,696.40 บาท โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20487 ถึง 20489แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 และยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 25219 ถึง 25221 แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้ส่วนที่เหลือดังกล่าว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดิน 2 แปลงแรกเมื่อใด และจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวได้ถึงวันใด เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ของจำเลยที่ 3 คือที่ดิน 2 แปลงแรกได้จากการขายทอดตลาด และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ด้วย โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน ศาลชั้นต้นอนุญาต การที่โจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทน หมายถึงการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องวางเงินชำระราคาค่าซื้อที่ดินในฐานะผู้ซื้อ และโจทก์มีสิทธิรับเงินจากการขายทอดตลาดที่โจทก์นำมาวางชำระค่าที่ดินในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอหักส่วนได้ใช้แทนราคาที่ต้องชำระ และศาลอนุญาต โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าที่ดินที่ต้องชำระมาวางและโจทก์ก็ไม่ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไป แต่ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อและได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้รับเงินไปแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทน แม้จำเลยที่ 3 จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดิน โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะโจทก์ไม่ต้องวางเงินชำระค่าซื้อที่ดินและเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องจ่ายเงินจากการขายทอดตลาดให้โจทก์อีก ดังนั้น เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์หักส่วนได้ใช้แทนก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ในวันที่ศาลสั่งอนุญาต คือวันที่ 10 สิงหาคม 2532 แล้ว และเมื่อฟังว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ในจำนวนที่หักส่วนได้ใช้แทนในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 จึงคิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วไม่ได้ ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ก็เพื่อจะได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้แต่ละคนได้รับตามส่วนโดยถูกต้องบทบัญญัติในมาตรา 318 ถึง 322 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เป็นแต่เพียงวิธีการที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่อจ่ายเงินไปครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวก็ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่มิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดไปจนกว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเสมอไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีก 6 แปลง เพิ่มหรือไม่ และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องคืนเงินจำนวน 1,080,055.80 บาท ให้จำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่โจทก์นำยึดที่ดินเพิ่มดังกล่าวเนื่องจากบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินครั้งที่ 2 ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ปรากฏว่ายังเหลือหนี้อีก 7,510,696.40 บาท ซึ่งการทำบัญชีดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณโดยถือว่าเงินจำนวนที่หักส่วนได้ใช้แทนนั้นยังมิได้ชำระให้โจทก์จนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 3 จึงคำนวณดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวมาถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คือวันที่ 22 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 อีก 11 แปลงนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้จ่ายให้โจทก์รับไปตามหนี้จำนองที่โจทก์มีอยู่เหนือที่ดินทั้ง 11 แปลง ดังกล่าวครบถ้วนตามหนี้จำนองตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 และเงินส่วนที่เหลือได้คืนให้จำเลยที่ 3 รับไปแล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 2 โดยนำรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 มารวมคำนวณด้วย กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 รวม 13 แปลง ชำระหนี้โจทก์แล้ว ยังมีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกหรือไม่ เพียงใด หากมีหนี้เหลือโจทก์ก็มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่มได้แต่หากเงินที่จ่ายให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ไปแล้ว เป็นการจ่ายไม่ถูกต้องอย่างไร ก็จะต้องดำเนินการจ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้องต่อไป ดังนั้น เห็นควรให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายรับ – จ่ายเงินใหม่ทั้งหมด และคำนวณดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระอีกก็ให้โจทก์บังคับคดีจากที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ยึดไว้เท่าที่พอจะชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3 รวม 13 แปลง พอชำระหนี้โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดี และค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้จ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายและเพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้ง 6 แปลงต่อไป ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินใหม่ทั้งหมดโดยให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่หักส่วนได้ใช้แทนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากปรากฏว่ามีหนี้เหลือที่โจทก์จะได้รับชำระเพิ่มอีกก็ให้บังคับคดีจากที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ยึดไว้เท่าที่พอชำระหนี้ต่อไป แต่ถ้าการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 3รวม 13 แปลง พอชำระหนี้โจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ตามสิทธิของแต่ละฝ่าย และให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20487 ถึง 20489 แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี(แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 25219ถึง 25221 แขวงมีนบุรี (แสนแสบ) เขตมีนบุรี (แสนแสบ) กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 3

Share