คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ใบแต่งทนายความของโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแรงงานระบุว่าให้ทนายโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดไปในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ด้วย เช่น การประนีประนอมยอมความทนายโจทก์จึงมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนโจทก์แม้สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงว่า โจทก์จะถอนฟ้องคดีอาญา และถอนฟ้อง ถอนคำร้องทุกข์ในคดีอื่น ๆ และโจทก์จำเลยต่างจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา และคดีอาญาดังกล่าวมิใช่คดีแรงงาน แต่ในใบแต่งทนายดังกล่าวมอบหมายให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้โดยมิได้จำกัดไว้แต่เฉพาะคดีแรงงานเท่านั้น และข้อตกลงดังกล่าวก็เกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่พิพาทกันในคดีแรงงาน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 38 มิได้จำกัดให้ศาลแรงงานต้องไกล่เกลี่ยได้แต่เฉพาะคดีแรงงาน ศาลแรงงานจึงพิพากษาตามยอมได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและโบนัสบำเหน็จพร้อมทั้งดอกเบี้ยรวมจำนวน 128,625 บาท จำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและขาดงาน ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 20 มิถุนายน 2543มีทนายโจทก์และนายสุวิทย์ สุธรรมบุตร ผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท และจำเลยหรือนายสุวิทย์จะถอนคำร้องทุกข์หรือการแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาใด ๆ แก่โจทก์ทุกเรื่องให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน ส่วนโจทก์จะถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 371/2541 ของศาลจังหวัดเชียงราย ที่โจทก์ฟ้องนายสุวิทย์เป็นจำเลย และหรือถอนฟ้องถอนคำร้องทุกข์ในคดีอื่น ๆ ไม่ว่าต่อบริษัทจำเลยหรือกรรมการคนหนึ่งคนใดของจำเลยให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน และโจทก์จำเลยต่างจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญาศาลแรงงานกลางพิพากษาให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 371/2541 ของศาลจังหวัดเชียงราย ถอนฟ้องถอนคำร้องทุกข์ในคดีอื่น ๆ และจำเลยจะถอนคำร้องทุกข์หรือแจ้งความคดีอาญาใด ๆ แก่โจทก์ทุกเรื่องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นการจำกัดสิทธิฟ้องร้องบุคคลผู้กระทำความผิดอาญาเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทนายโจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายให้ว่าความคดีแรงงานเท่านั้น ข้อตกลงตามข้อ 2ข้อ 3 และข้อ 5 ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ใช่การยอมความกันในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ที่ถูกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)มาตรา 138 คำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า ในใบแต่งทนายความของโจทก์ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2542ระบุไว้ชัดว่าให้ทนายโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดไปในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ด้วย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความทนายความโจทก์จึงมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแทนโจทก์ แม้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2มีข้อตกลงว่า โจทก์จะถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 371/2541ของศาลจังหวัดเชียงราย และถอนฟ้อง ถอนคำร้องทุกข์ในคดีอื่น ๆและสัญญาข้อ 5 ว่า โจทก์จำเลยต่างจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา แม้คดีอาญาดังกล่าวมิใช่คดีแรงงานและโจทก์แต่งตั้งทนายให้ว่าความคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแรงงานก็ตามแต่ในใบแต่งทนายความของโจทก์ดังกล่าวมอบหมายให้ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทได้โดยมิได้จำกัดไว้แต่เฉพาะคดีแรงงานเท่านั้นและข้อตกลงตามข้อ 2ข้อ 3 และข้อ 5 ก็เกี่ยวเนื่องกับข้อตกลงข้อ 1 เป็นประเด็นที่พิพาทกันในคดีแรงงาน ประกอบกับโจทก์ในคดีอาญามีอำนาจถอนฟ้องได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือก่อนคดีถึงที่สุดแล้วแต่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นอกจากนี้ในการพิจารณาคดีแรงงานจะต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยตั้งแต่แรกที่คู่ความมาพร้อมกันแล้วและไกล่เกลี่ยตลอดไปจนเสร็จการพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 38 และมาตรา 43 โดยเฉพาะมาตรา 38 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่าให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน โดยให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้โดยมิได้จำกัดให้ศาลแรงงานต้องไกล่เกลี่ยได้แต่เฉพาะคดีแรงงานดังจำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share