คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้จำนองชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญาจำนองแล้วผู้รับจำนองจะยึดโฉนดไว้ไม่จดทะเบียนรับไถ่และคืนโฉนดแก่ผู้จำนองไม่ได้การที่ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้เจ้าของร่วมคนอื่นในหนี้รายอื่น ไม่ทำให้มีสิทธิ ยึดหน่วงโฉนดไว้ได้ผู้จำนองฟ้องบังคับให้จดทะเบียนไถ่จำนองและ เรียกโฉนดคืนได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและคืนโฉนดที่ดิน 3701 แก่โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 200,000 บาท และได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 3701 ของโจทก์จำนองไว้กับธนาคารจำเลย ต่อมาโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารจำเลยครบถ้วนตามสัญญาดังกล่าวแล้ว เนื่องจาก่อนนายอรุณ สกุลครูสามีโจทก์ถึงแก่กรรม นายอรุณเป็นลูกหนี้ธนาคารจำเลยอยู่ตามเช็ค 1 ฉบับ ธนาคารจำเลยได้ฟ้องนางลัดดา สกลุครู โจทก์ในคดีนี้) ในฐานะภริยาและทายาทโดยชอบธรรมของนายอรุณ สกุลครู ขอให้ชำระหนี้ตามเช็ค นางลัดดาให้การสู้คดีว่ามิได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอรุณ สกุลครู ธนาคารจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นจึงขอให้ศาลเรียกนางสาวนันทนา สกุลครู บุตรของนางลัดดา สกุลครู ซึ่งเกิดกับนายอรุณ สกุลครูและบิดารับรองแล้วเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น ผลที่สุดคดีนั้นศาลแแพ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2516 ให้จำเลยร่วมชำระเงินให้ธนาคารจำเลยจำนวน 160,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ดังปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5880/2516 ของศาลแพ่ง แต่ธนาคารจำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวธนาคารจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานยึดที่ดินโฉนดที่ 3701 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของนายปรุณ สกุลครู ครึ่งหนึ่งมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ปัญหามีว่า ธนาคารจำเลยมีสิทธิที่จะยึดหน่วงโฉนดที่ดินที่ 3701 ไว้ได้หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โฉนดที่ 3701 ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวและไปตกอยู่ในความครอบครองของธนาคารจำเลยก็เพราะโจทก์ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารจำเลยและได้นำที่ดินโฉนดพิพาทมาจำนองไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อเป็นประกันหนี้เงินที่โจทก์เบิกเกินบัญชีไปจากธนาคารจำเลยเท่านั้น หาได้จำนองเพื่อประกันหนี้รายอื่นแต่อย่างใดไม่ ข้อที่ธนาคารจำเลยอ้างว่านายอรุณ สกุลครู เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดพิพาท นายอรุณยังไม่ได้ชำระหนี้ให้ธนาคารจำเลย ธนาคารจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดพิพาทนั้น เห็นว่าสิทธิยึดหน่วงจะเกิดขึ้น ได้ต่อเมื่อผู้ใดเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองนั้น นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้ หากหนี้ถึงกำหนดดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 241 ได้ความว่าหนี้ที่นายอรุณก่อขึ้นแล้วไม่ชำระหนี้ธนาคารจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5880/2516 นั้น มูลหนี้คนละรายกับหนี้ของโจทก์ไม่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดพิพาทประการใด ฉะนั้นจะถือว่าธนาคารจำเลยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์เกี่ยวกับโฉนดพิพาทไม่ได้ ธนาคารจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดของโจทก์ที่อ้างวานายอรุณมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดพิพาทด้วยนั้นหาเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ธนาคารจำเลยจะต้องดำเนินการเอากับนายอรุณในชั้นบังคับในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5880/2516 จะใช้สิทธิยึดหน่วงโฉนดในคดีนี้ไม่ได้”

พิพากษายืน

Share